การพัฒนาตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์ (ตอนที่ 2)
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.innovationmanagement.se/wp-content/uploads/2013/02/how-to-develop-your-innovation-management-consulting-business-in-tough-times1.jpg
เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?
ในบทความตอนที่ 1 ผมได้อธิบายถึงข้อวิพากษ์เกี่ยวกับการวัดโลกาภิวัตน์ใน 2 ประเด็น คือ ความไม่ชัดเจนของนิยามโลกาภิวัตน์และความไม่ชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์กับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และในบทความตอนนี้เป็นการอธิบายข้อวิพากษ์ในประเด็นสุดท้าย คือ "ความไม่สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของประเทศในเอเชีย" เป็นข้อวิพากษ์ที่บอกถึงความไม่สอดคล้องของชุดตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์อาจไม่เหมาะสำหรับใช้วัดกับทุกประเทศ ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาประเทศและบริบทของการพัฒนาแตกต่างกัน
ในบทความตอนที่ 1 ผมได้อธิบายถึงข้อวิพากษ์เกี่ยวกับการวัดโลกาภิวัตน์ใน 2 ประเด็น
ประเด็นที่สาม ความไม่สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของประเทศในเอเชีย
จากการศึกษาในอดีตพบว่า ความคลาดเคลื่อนของการวัดโลกาภิวัตน์เกิดจากลักษณะของประเทศนั้นๆ เช่น ขนาดของประเทศ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น ประเทศที่มีขนาดเล็กมีความจำเป็นต้องทำการค้ากับต่างประเทศมากกว่าประเทศที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรไม่เพียงพอและมีตลาดภายในประเทศขนาดเล็ก ทำให้ต้องพึ่งพาทรัพยากรและตลาดในต่างประเทศ แม้ว่าดัชนีวัดโลกาภิวัตน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้มีการปรับความคลาดเคลื่อนดังกล่าวแล้ว แต่กระนั้นดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์ที่มีอยู่ยังคงไม่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาของประเทศในเอเชียในปัจจุบันและอนาคต เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1) ประเทศในเอเชียมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก
ประเทศในเอเชียมีระดับการพัฒนาและมีโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่แตกต่างกันมาก ซึ่งในเอเชียประกอบด้วยประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลาง และประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่งเปิดประเทศไม่นาน เช่น เวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว และเมียนม่าร์ เป็นต้น ดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจมีตัวชี้วัดบางตัวที่ไม่เหมาะสมและไม่สามารถใช้ได้กับแต่ละกลุ่มประเทศที่มีบริบทการพัฒนาแตกต่างกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดที่ใช้ในการวัดโลกาภิวัตน์ทางการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งวัดโดยอัตราภาษีศุลกากรและกฎระเบียนด้านการลงทุน แต่สำหรับการวัดในประเทศกำลังพัฒนาอาจจะต้องวัดประสิทธิภาพของกระบวนการศุลกากร ความยากในการขออนุญาตจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงต้นทุนแฝงจากการที่ต้องจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
2) เอเชียจะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ของโลก
มีการคาดการณ์ว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็น "ศตวรรษแห่งเอเชีย? (Asian Century) และภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มจะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ของโลก โดยโลกมีแนวโน้มเปลี่ยนจากขั้วอำนาจเดียว (unipolar) เป็นหลายขั้วอำนาจ (multipolar) เนื่องจากมีเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economies) ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ ได้แก่ ประเทศในกลุ่ม BRIIC ซึ่ง 3 ใน 5 ของประเทศในกลุ่มนี้อยู่ในเอเชีย (จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา และได้รับการคาดการณ์ว่า จะมีบทบาทในการกำหนดระเบียบและมาตรฐานของโลกมากขึ้น เนื่องจากจีนกำลังเปลี่ยนจากประเทศผู้รับการลงทุนเป็นประเทศที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และเปลี่ยนจากประเทศผู้รับเทคโนโลยีเป็นผู้สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการโลกาภิวัตน์และนิยามของโลกาภิวัตน์ในความหมายว่าเป็น Westernization/Americanization เพราะตะวันตกจะไม่ใช่ผู้เดียวที่กำหนดมาตรฐานหรือค่านิยมของโลกอีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ การวัดโลกาภิวัตน์โดยใช้ตัวชี้วัดบนฐานแนวคิด Westernization/Americanization เช่น จำนวนสาขาของแม็คโดนัล และอีเกีย จึงอาจไม่เหมาะสมสำหรับบริบทใหม่ของเอเชียและของโลก
ข้อเสนอการพัฒนาดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์
จากข้อวิพากษ์เกี่ยวกับการวัดโลกาภิวัตน์ดังที่กล่าวแล้วชี้ให้เห็นว่า ควรมีการพัฒนาตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์ให้เหมาะสมกับการวัดประเทศในเอเชีย ผมจึงได้เสนอแนะแนวคิดในการจัดทำตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์ไว้ 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก "เลือกตัวชี้วัดที่สัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ" การเลือกตัวชี้วัดที่จะบรรจุในดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์ควรมีผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับว่าตัวชี้วัดที่เลือกมานั้นมีความสัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำดัชนีชี้วัดตั้งอยู่บนฐานการวิจัย และมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายของการพัฒนา
ประการที่สอง "Optimize โลกาภิวัตน์ไม่ใช่ maximize โลกาภิวัตน์ " เนื่องจากโลกาภิวัตน์อาจทำให้เกิดการขัดกันของเป้าหมายการพัฒนาประเทศซึ่งมีหลายเป้าหมาย ดังนั้น การสร้างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์ควรมีตัวชี้วัดมุมมองหรือความคิดเห็นส่วนบุคคล (subjective indicator) ที่วัดว่าประชาชนในแต่ละประเทศจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายต่าง ๆ ของการพัฒนาประเทศอย่างไร แล้วจึงนำ subjective indicator ดังกล่าวมาใช้ในการกำหนดการถ่วงน้ำหนัก (weight) ของแต่ละตัวชี้วัด ซึ่งเราทราบอยู่แล้วว่าตัวชี้วัดใดมีอิทธิพลต่อเป้าหมายใดของการพัฒนาประเทศ
ประการที่สาม "จัดทำดัชนีชี้วัดที่เหมาะกับบริบทการพัฒนาของแต่ละกลุ่มประเทศ" โดยการจำแนกประเทศออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามบริบทของการพัฒนาหรือระดับการพัฒนาประเทศ จากนั้นจัดทำดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์ที่มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาของแต่ละกลุ่มประเทศ
ประการที่สี่ "การจัดทำดัชนีวัดความพร้อมรับมือโลกาภิวัตน์? (Globalization Readiness Index) เพื่อวัดว่า แต่ละประเทศมีความพร้อมรับมือและใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เนื่องจากผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลในการจัดการผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่จะเกิดขึ้น
โดยสรุป แนวคิดสำคัญในการพัฒนาตัวชี้วัดโลกาภิวัตน์นี้ คือ การตระหนักว่าโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เป้าหมาย (end) แต่เป็นเครื่องมือ (tool) ของการพัฒนาประเทศ ซึ่งในการสร้างดัชนีชี้วัดโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการเลือกตัวชี้วัดที่ประกอบอยู่ในดัชนีชี้วัดและการกำหนดการถ่วงน้ำหนักของแต่ละตัวชี้วัด จึงต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศและบริบทของการพัฒนาของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670x490/cover/568923.jpeg