ฮาร์วาร์ดเปิดหลักสูตรเตรียมครูป้อนโรงเรียนรัฐในเขตเมือง
การพัฒนาหลักสูตรสนองตอบการพัฒนาชาติและท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาแห่งฮาร์วาร์ด ซึ่งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจนกระทั่งปัจจุบัน ฮาร์วาร์ดได้มีการคิดค้น พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรอย่างเป็นพลวัต ในจำนวนนี้หลายหลักสูตรสร้างผลกระทบเชิงบวกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชน สังคม ประเทศชาติ และระดับโลก อาทิ วิชาบอสตัน (Boston course) ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานในสังกัดวิทยาลัยเคนเนดี้สคูลแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School) วิชาดังกล่าวนี้มีส่วนสำคัญต่อการจัดการประเด็นปัญหาและการพัฒนาสังคมชุมชนท้องถิ่น ผ่านกระบวนการสร้างผู้นำรุ่นใหม่และการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของหลักสูตรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมของฮาร์วาร์ด
นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังมีหลักสูตรที่น่าสนใจที่มีส่วนสำคัญต่อการจัดการประเด็นปัญหาและการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศสหรัฐ คือ หลักสูตรการศึกษาครู หรือ Teacher education program ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 11 เดือน หลักสูตรนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของวิทยาลัยศึกษาศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Education) โดยมีพื้นฐานปรัชญาความเชื่อในการจัดหลักสูตรว่า ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างอนาคตและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมและประเทศชาติได้
หลักสูตรการศึกษาครูนี้ถูกออกแบบสำหรับเตรียมครูให้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายที่เป็นโรงเรียนรัฐในเขตเมือง เพื่อป้อนสู่โรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่ค่อนข้างมีความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนสูง โดยผู้ที่จะออกไปเป็นครูเหล่านี้ จำเป็นต้องรู้ถึงวิธีการปรับแผนการสอนให้เข้ากับผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English language learner (ELL)) ต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ ชนชั้นที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อ
การออกแบบหลักสูตรการศึกษาครูของฮาร์วาร์ดนี้ มีลักษณะที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างครูให้มีลักษณะของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีทั้งความเชื่อมั่นในตัวเองและมีทักษะเหมาะสมในโรงเรียนของรัฐในเขตเมือง โดยหลักสูตรดังกล่าวมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
จัดการศึกษาที่ใช้บริบทเมืองเป็นแก่นในการจัดหลักสูตร ด้วยการออกแบบให้ทุกองค์ประกอบของหลักสูตรมีจุดเน้นไปที่การเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการเป็นครูในโรงเรียนรัฐบาลในเขตเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการเชื่อมโยงประเด็นสำคัญของเขตเมืองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร อาทิ พัฒนาการวัยรุ่นในเยาวชนเมือง (adolescent development in urban youth) พลวัตในชั้นเรียนแห่งเชื้อชาติและชนชั้น (classroom dynamics of race and class) เป็นต้น พร้อมกันนี้ผู้เรียนทุกคนจะได้รับสิทธิพิเศษให้ร่วมทำงานในโรงเรียนรัฐบาลของเมืองบอสตัน (Boston) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) เมืองเชลซี (Chelsea) และเมืองซอเมอร์วิลล์ (Somerville) เพื่อได้ฝึกฝนและมีประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในเขตเมือง
สนับสนุนการพัฒนาทักษะภาคปฏิบัติให้กับผู้เรียน อาทิ มีการฝึกงานเป็นทีมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนร่วมกับครูผู้มากด้วยประสบการณ์ มีระบบการฝึกงานด้านการจัดการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและข้อมูลสะท้อนกลับจากที่ปรึกษาและอาจารย์ภาคสนามของวิทยาลัยศึกษาศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการสอนของผู้เรียนแต่ละบุคคลได้อย่างเจาะจง เป็นต้น
มีระบบให้คำปรึกษาและการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้เรียนทุกคนจะมีอาจารย์ผู้มากด้วยประสบการณ์ของวิทยาลัยศึกษาศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด คอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดในช่วงระหว่างการฝึกงาน โดยที่ปรึกษาจะคอยให้ข้อเสนอแนะจากการสังเกตการณ์ การแบ่งปันประสบการณ์ และความคิด ที่จะมีส่วนพัฒนาปรับปรุงผลการปฏิบัติงานในชั้นเรียนของผู้เรียน
เป็นช่องทางสร้างเครือข่ายเพื่อนร่วมงานและชุมชน ด้วยการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกันของกลุ่มผู้เรียนจำนวน 20 - 25 คน การแบ่งปันความคิดและทัศนคติระหว่างกันนี้จะช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เป็นเสมือนครูที่ทำหน้าที่ชี้นำผู้เรียนในการเรียนรู้ อีกทั้งกลุ่มเพื่อนร่วมงานเหล่านี้ยังจะเป็นเครือข่ายนักวิชาชีพที่สำคัญของผู้เรียนภายหลังจากที่ผู้เรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาด้วยอีกทางหนึ่ง
เปิดโอกาสให้เรียนข้ามวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา โดยในส่วนวิชาเลือกอนุญาตให้ผู้เรียนสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนที่วิทยาลัยอื่นของฮาร์วาร์ด สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) วิทยาลัยกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์แห่งมหาวิทยาลัยทัฟท์ส์ (Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts Univesity) หรือ วิทยาลัยศาสนาอีพิสโคพอล (Episcopal Divinity School) ได้ตามความสนใจ เป็นต้น
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างครูเพื่อสร้างคนซึ่งเป็นฐานสำคัญในการสร้างชาติ โดยครูจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อครูจบจากหลักสูตรศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ในระดับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาแล้ว รวมถึงกลุ่มผู้ที่จบปริญญาตรีที่ต้องการเป็นครู จำเป็นต้องมีหลักสูตรพัฒนาครูเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาให้ครูมีศักยภาพและความสามารถในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน ดังเช่นการจัดหลักสูตรพัฒนาครูเพื่อป้อนสู่โรงเรียนในเขตเมืองดังเช่นที่ฮาร์วาร์ดดำเนินการดังข้างต้น หรืออาจเป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาครูป้อนสู่โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกล โรงเรียนตามเขตชายแดนที่จะกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่มีผู้เรียนที่มีความหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม หรือโรงเรียนที่ผู้เรียนมีสติปัญญาเลิศในด้านต่างๆ เป็นต้น อันจะทำให้การพัฒนาและเตรียมพร้อมครูได้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียน บริบทของสถานศึกษา และสังคมแวดล้อมที่แตกต่างกันได้
ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ปีที่ 62 ฉบับที่ 32 วันที่ 24-30 เมษายน 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://smpia1.al-azhar.sch.id/wp-content/uploads/2014/10/art-teacher-620?349.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Thursday, 30 April, 2015 - 10:57
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,475 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,309 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,223 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,050 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,459 ครั้ง