การเปิดประชาคมอาเซียนเกี่ยวข้องกับคนกทม.อย่างไร? : โอกาส (2)


แหล่งที่มาของภาพ : http://www.tienchiu.com/wp-content/gallery/thailand-bangkok/bangkok_market_woman.jpg

ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งอุปสรรคและโอกาสขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติ การเข้าสู่ประชาคมก็เช่นเดียวกัน ผมได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไปแล้วในบทความครั้งที่แล้ว ในครั้งนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่เกิดขึ้น โดยการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอาจเป็นโอกาสของคน กทม.ในหลายด้าน อาทิ1) โอกาสด้านการค้า

คนกรุงเทพฯ มีโอกาสส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียนที่กลายเป็นตลาดเดียวที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากการลดกำแพงภาษีและข้อจำกัดทางการค้าระหว่างกัน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศทำให้การขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯไปยังประเทศเพื่อนบ้านสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และทำให้คนกรุงเทพฯมีโอกาสสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้เรายังมีโอกาสนำเข้าสินค้า วัตถุดิบ และปัจจัยการผลิต หรือรับบริการจากประเทศเพื่อนบ้านได้ในราคาต่ำลง ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเจาะตลาด ASEAN-6 หรือกลุ่มสมาชิกเดิมของอาเซียน 6 ประเทศได้มากนัก เนื่องจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว กำแพงภาษีศุลกากรของประเทศกลุ่ม ASEAN-6 จึงถูกกำจัดออกไปนานแล้ว ถึงกระนั้นโอกาสในการเข้าถึงตลาด CLMV หรือกลุ่มสมาชิกใหม่ของอาเซียน 4 ประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะประเทศกลุ่ม CLMV มีตารางเวลาในการเปิดเสรีช้ากว่าประเทศในกลุ่ม ASEAN-6

ตารางเวลาการลดอัตราภาษีศุลกากรของสมาชิกอาเซียน ASEAN 6
- สินค้าส่วนใหญ่ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553
- สินค้าเกษตรที่ไม่แปรรูปลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ถึง 5 ในปี 2553
CLMV - สินค้าส่วนใหญ่ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 โดยยืดหยุ่นถึงปี 2561
- สินค้าเกษตรที่ไม่แปรรูปลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ถึง 5
- เวียดนาม ปี 2556
- ลาวและเมียนม่าร์ ปี 2558
- กัมพูชา ปี 2560

2) โอกาสด้านการลงทุน

การเปิดเสรีการลงทุนทำให้นักธุรกิจในกรุงเทพฯ มีโอกาสออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านการลงทุนที่ลดลง ทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับประโยชน์จากปัจจัยการผลิตและแรงงานราคาถูก และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีโอกาสเข้าถึงตลาดของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น นอกจากนี้เรายังมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศหรือมีโอกาสร่วมมือกับชาวต่างชาติในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ การลงทุนที่ไหลเข้ามาจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ วิธีการบริหารจัดการที่ทันสมัย เงินตราต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสเข้าสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น

3) โอกาสด้านการจ้างงาน

คนกรุงเทพฯ มีโอกาสเข้าไปทำงานในบริษัทข้ามชาติมากขึ้น เนื่องจากการเข้ามาลงทุนและจัดตั้งสำนักงานของบริษัทข้ามชาติใน กทม.จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการจ้างแรงงานท้องถิ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศ จะทำให้บุคลากรที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติ (เฉพาะ 25 สาขาอาชีพที่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายภายในบริษัท) มีโอกาสเคลื่อนย้ายไปทำงานในเพื่อนบ้านมากขึ้น และทำให้แรงงานวิชาชีพ 7 สาขาที่เปิดเสรี (ได้แก่ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และบัญชี) มีโอกาสออกไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับประสบการณ์ในการทำงานในบริษัทข้ามชาติและได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบรรษัทข้ามชาติกว่า 7,000 แห่งจากสหรัฐ ฯ ยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการก็มีโอกาสในการจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในบริษัทของตนได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพออกไปทำงานในภูมิภาคอาเซียนยังมีข้อจำกัดบางด้าน เช่น มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของแต่ละประเทศที่ยังแตกต่างกัน และบางประเทศยังตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อกีดกันไม่ให้บุคลากรต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศของตน

4) โอกาสที่สินทรัพย์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ประชาคมอาเซียนจะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นทำเลทอง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่กลางภูมิภาค และศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยว คนกรุงเทพฯจะมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตและจำหน่ายสินค้าและให้บริการแก่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอยู่ใน กทม. มูลค่าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนคนต่างชาติใน กทม.เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน แต่คนกรุงเทพฯ จะสามารถใช้โอกาสและได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปนี้ได้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวในช่วงเวลานี้ ซึ่งคนกรุงเทพฯ ควรปรับตัวอย่างไรในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผมจะวิเคราะห์และนำเสนอในบทความต่อไปครับ

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com