กระเป๋า(นักเรียน)เอย?ทำไมจึงหนัก

student-bag
 
จำเป็นต้องหนัก??.เพราะหนังสือมันเยอะ !
น่าเห็นใจจริงๆครับสำหรับเด็กนักเรียนไทยสมัยนี้  ที่ต้องหิ้วกระเป๋าหนังสือหนัก (มาก) ทั้งๆที่ขนาดตัวเด็กบางคนก็เล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับระดับชั้นที่นักเรียนอยู่  จำได้ว่าสมัยก่อนเราก็เคยเห็นภาพเด็กนักเรียนใช้กระเป๋านักเรียนแบบหิ้ว   และเด็กก็จะหิ้วกระเป๋าเดินตัวเอียงกันเป็นแถว  ส่งผลให้บางคนเดินไหล่เอียงจนโตเป็นผู้ใหญ่ก็มี
 
จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จย่าที่ได้ทรงนำเป้หนังสือจากต่างประเทศมามอบให้กระทรวงศึกษาธิการในสมัยนายชวน หลีกภัยนำมาปรับใช้กับเด็กนักเรียนไทย เราจึงได้เห็นเด็กสมัยนี้ใช้เป้แทนกระเป๋านักเรียนในอดีต แต่ก็ไม่วายยังมีปัญหากระเป๋านักเรียนก็ยังคง?หนักถึงหนักมากอยู่เหมือนเดิม
การที่กระเป๋านักเรียนหนักมากนี้ ทำให้เกิดผลเสียหลายอย่าง อาทิ
1. ผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะโครงสร้างกระดูกของเด็กจะมีปัญหาได้ในอนาคต
2. การเดินทาง ขึ้น-ลงรถโดยสารสาธารณะจะไม่ปลอดภัย  เนื่องจากต้องแบกน้ำหนักมากอยู่บนหลัง เป็นต้น
 
ที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอจากทั้งจากคุณครูและผู้ปกครองในการแก้ปัญหานี้ เช่น
1.นักเรียนควรมีการจัดตารางสอนทุกวัน โดยเรื่องนี้ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วยดูแลด้วยเพราะบางครั้งเด็กยังไม่สามารถรับผิดชอบได้  สำหรับประเด็นนี้ผู้ปกครองบางท่านก็ยังยืนยันว่าแม้มีการจัดตารางสอนทุกวันกระเป๋านักเรียนก็ยังคงหนักเกินไปสำหรับเด็ก
2.เสนอให้โรงเรียนอนุญาตให้เก็บหนังสือเรียนไว้ที่โรงเรียนได้ นำหนังสือกลับบ้านเฉพาะที่ต้องใช้ทำการบ้านและเพื่อการอ่านทบทวน ซึ่งหลายโรงเรียนก็ใช้วิธีนี้โดยเฉพาะโรงเรียนดัง ซึ่งช่วยลดปัญหากระเป๋านักเรียนหนักเกินไปได้มาก และเด็กไม่ลืมนำหนังสือมาเรียน   แต่อย่างไรก็ตามจะมีโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีงบประมาณการดำเนินกิจการโรงเรียนจำกัด
3.เสนอให้โรงเรียนอนุญาตให้แบ่งหนังสือเรียนเป็นบทๆ และนำไปโรงเรียนเฉพาะที่ต้องเรียนเท่านั้น  ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้สิ้นปีการศึกษาสภาพของหนังสืออาจไม่สามารถนำกลับมาใช้ต่อได้  โดยเฉพาะโรงเรียนที่ใช้ระบบหนังสือยืมเรียน
4.ครูผู้สอนควรมีการวางแผนการสอนล่วงหน้า เช่น วันนี้จะสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง สัตว์ นักเรียนก็จะจัดตารางสอนมาตามนั้น เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาว่า ครูคิดจะสอนวิชาอื่นนอกเหนือตารางสอนในวันนั้นๆ แล้วเด็กไม่ได้หยิบหนังสือมาโรงเรียน  เด็กก็จะเรียนไม่รู้เรื่องและถูกครูตำหนิว่าไม่นำหนังสือเรียนมาให้ครบ เด็กจึงใช้วิธี นำหนังสือวิชาอื่นมาเผื่อด้วยทำให้กระเป๋านักเรียนจึงหนักมาก
5.มีการปรับลดเนื้อหาวิชาลง เนื่องจากผู้ปกครองมองว่า ใน 1 วิชา มีหนังสือหลายเล่ม เช่น วิชาภาษาไทย มีหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ ภาษาพาที วรรณคดีลำนำ ทักษะภาษา(ฝึกการเขียน) รวมสมุดแบบฝึกหัดอีก 1 เล่มรวมเป็น 4 เล่ม สำหรับวิชาอื่นๆ โดยทั่วไปจะมีหนังสือเรียน 1 เล่ม แบบฝึกหัด 1 เล่ม สมุดแบบฝึกหัด 1 เล่ม เฉลี่ยแล้วแต่ละวิชาเด็กต้องแบกหนังสือประมาณ 3 เล่ม  1 วัน เรียน 7 วิชา โดยเฉลี่ยนักเรียนจึงต้องนำหนังสือไปโรงเรียนวันละ 15 ? 20 เล่ม ทั้งนี้ยังไม่รวมอุปกรณ์ประกอบการเรียนอื่นๆ เป็นต้น
 
ผมมองว่า  การแก้ปัญหา ?กระเป๋านักเรียนหนัก? ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่จริงเราน่าจะมาตั้งคำถามใหม่ว่า ?กระเป๋านักเรียนทำไมต้องหนัก? จำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่นักเรียนต้องใช้หนังสือเรียนจำนวนมากขนาดนั้นใน 1 วัน ผมเสนอว่าอาจต้องมาดูเนื้อหาวิชากันจริงๆว่า เด็กในแต่ละวัยจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง และมากน้อยแค่ไหน การเรียนรู้นั้นๆจำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบหนังสือเรียนเสมอไปหรือไม่
ขอยกตัวอย่าง แอบเปิดดูหนังสือวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี (กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ตรงตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551) ชั้น ป.2  บทที่ 2 เนื้อหาบทเรียนเป็นการสอนให้นักเรียนรู้จักแต่งกายด้วยตนเอง และการจัดเก็บเสื้อผ้า  ที่จริงเนื้อหาเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือให้ต้องท่องจำ  เนื้อหาเรื่องนี้ควรอยู่ในคู่มือการสอนของครู   การสอนและการสอบควรเป็นภาคปฏิบัติมากกว่า  เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงน่าจะเพื่อให้เด็กแต่งตัวด้วยตัวเองเป็น  ไม่ใช่ต้องการให้นักเรียนมีความสามารถในการจำขั้นตอนการแต่งตัวได้ครบ  เป็นต้น
 
ผมคิดว่าเรื่องการแก้ไขปัญหากระเป๋านักเรียนหนัก   จะเป็นผลลัพธ์จากการปฏิรูปการศึกษาไทย    อันเกิดจากการกำหนดเนื้อหาวิชาที่เรียนให้พอเหมาะในแต่ละช่วงวัย   การปรับรูปแบบการเรียนการสอน  การปรับลดเวลาเรียนของเด็กไทย(ต้องถือว่าเด็กไทยมีชั่วโมงเรียนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การสัมฤทธิผลทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ) การพัฒนาบุคลากรครู  ฯลฯ
กระเป๋านักเรียนหนัก?..มองดูเผินๆเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน  เพราะสะท้อนปัญหาการจัดการศึกษาของไทยได้เป็นอย่างดียิ่ง
 
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด