โอกาสและความจำเป็นในการร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป
ผู้เขียนขอประเมิน โอกาสและความจำเป็นในการร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง จากสภาวะภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้ง 2 ภูมิภาคต้องเร่งยกระดับความร่วมมือระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
อาเซียน เป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก เป็นตลาดขนาดใหญ่อันประกอบด้วยประชากรกว่า 700 ล้านคน มีขนาดของจีดีพีรวมกันมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และมีแนวโน้มจะขยับเป็นอันดับ 4 ได้ในปีค.ศ. 2030
ขณะที่สหภาพยุโรป (European Union) เป็นการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่ใหญ่ และก้าวหน้าที่สุดในโลก มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโลก เป็นทั้งตลาดสินค้าบริการ การเงิน และการลงทุนที่สำคัญ รวมทั้งมีบริษัทที่มีมูลค่าสูงติดระดับโลกเป็นจำนวนมาก
อาเซียนและอียูเริ่มมีความสัมพันธ์กันอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 ก่อนจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการใน 5 ปีต่อมา กระทั้งปี ค.ศ. 2020 ทั้ง 2 ภูมิภาคได้เริ่มแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาร่วมกัน
โดยในปี ค.ศ. 2022 นี้นอกจากจะเป็นโอกาสจากการครบรอบ 45 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว หากพิจารณาจากสภาวะภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ทั้ง 2 ภูมิภาคจำเป็นต้องเร่งยกระดับความร่วมมือระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย
1. ในมุมอาเซียน: การร่วมมือกับอียูเป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
1.1 อาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพาองค์ความรู้และประสบการณ์ของอียูในการพัฒนาความร่วมมือ
ในการจัดตั้งประชาคมทางเศรษฐกิจ (Economic Community) นั้น อาเซียนได้เริ่มจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2015
ขณะที่ยุโรป ตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community – EEC) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1957 และพัฒนาเป็น สหภาพยุโรป (The European Union – EU) ใน ค.ศ. 1993
กล่าวคือ ขณะอาเซียนอยู่ในเส้นทางการพัฒนาความร่วมมือ อียูได้ร่วมมือกันนำหน้าอาเซียนไปถึง 58 ปีแล้ว
TIMELINE: EU-ASEAN_RELATIONSHIP 2022 ที่มา: EU-ASEAN STRATEGIC PARTNERSHIP 2022
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาเซียนมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นสหภาพอาเซียน (ASEAN Union) หรือ สหรัฐอาเซียน (United States of ASEAN_– USAs) ที่มีความแน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้นได้เช่นเดียวกับอียู ซึ่งจะทำได้หรือไม่และรวดเร็วแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าอาเซียนจะสามารถเรียนรู้จากองค์ความรู้ และประสบการณ์ของอียูได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์อนาคตจะทำให้ทั้ง 10 ชาติเห็นประโยชน์การรวมตัวในจังหวะนั้น
1.2 อาเซียนต้องการอียูเพื่อมาถ่วงดุลมหาอำนาจ
การเมืองระหว่าง 2 มหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐในเอเชียมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยหากลองตั้งคำถามเพื่อคาดการณ์อนาคตว่า “หากอาเซียนแตกจะเป็นประโยชน์ต่อชาติใดมากกว่ากัน?” ในมุมมองผม ผมคิดว่าหากชาติในอาเซียนขัดแย้งกันเองจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีนและสหรัฐด้วยเหตุผลที่ต่างกัน
จีนอยากให้อาเซียนแตก เพราะจะสามารถเจรจาความร่วมมือได้ง่ายขึ้น เพราะสำหรับจีนนั้น การต่อรองกับประเทศในอาเซียนทีละประเทศย่อมบรรลุผลง่ายกว่าเจรจาเป็นกลุ่ม เนื่องจากจีนมีปัญหาขัดแย้งกรณีทะเลจีนใต้กับ 5 ประเทศในอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไน
นอกจากนั้นที่ผ่านมาจีนยังเคยพยายามหนุนนายกฯ ฮุนเซนของกัมพูชา ขณะดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนไม่ให้พูดถึงกรณีขัดแย้งดังกล่าว เพื่อจีนจะได้มีอิทธิพลกับอาเซียนได้เต็มที่
ขณะที่สหรัฐต้องการให้อาเซียนแตก เพราะปัจจุบันสหรัฐบรรลุเป้าหมายในการสร้างพันธมิตรกับบางชาติในอาเซียนแล้ว ได้บางประเทศเป็นพันธมิตรแล้ว การที่อาเซียนแตกกันจะเป็นประโยชน์กับมหาอำนาจ
การที่สหรัฐและจีนลงมาดำเนินยุทธศาสตร์ทางการเมืองในภูมิภาคนี้ ทำให้อาเซียนต้องรักษาเสถียรภาพของตนโดยวางตัวบนผลประโยชน์ของภูมิภาคทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นสำคัญ ไม่สามารถโอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันกลับตรงข้าม เนื่องจากบางประเทศถือหางสหรัฐชัดเจน และบางประเทศถือหางจีนชัดเจน การร่วมมือระหว่างอาเซียนกับอียูจึงเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพของอาเซียนในการรักษาดุลกับอำนาจกับทั้งอเมริกา และจีน
EU&ASEAN_FACTS (2022) ที่มา: EU-ASEAN STRATEGIC PARTNERSHIP 2022
2. ในมุมอียู: ต้องการการสนับสนุนจากอาเซียนทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง
2.1 ด้านเศรษฐกิจ
อียูเป็นผู้ให้ความร่วมมือที่สำคัญที่สุดของอาเซียนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีนักลงทุนยุโรปเข้ามาลงทุนในอาเซียนโดยตรงสูงเป็นอันดับ 4 และยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนอาเซียนด้วย
อาเซียนจึงสามารถรองรับการลงทุน และเป็นฐานการผลิต รวมถึงเป็นแหล่งซัพพลายเชนที่สำคัญของอียูได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากอาเซียนเข้มแข็งจะเป็นผลดีแก่นักลงทุนและนักธุรกิจยุโรปในการเข้าตลาดอาเซียน กล่าวคือ “เปิดตลาดทีเดียว เข้าได้ทุกประเทศ”
2.2 ด้านความมั่นคง
ความใกล้ชิดกันของอียูกับอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของอียูในการเพิ่มบทบาทในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก แต่ไม่ใช่แค่อียูเท่านั้นที่ดำเนินยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก แต่สหรัฐยังคงพยายามเพิ่มบทบาทในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องการตอบโต้อิทธิพลของจีนในอาเซียนซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
สำหรับอียูแล้ว อาเซียนถือเป็นจุดเชื่อมต่อสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว อียูจึงกำลังสร้างฐานอำนาจทั้งทางเศษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ในยุคที่จีนและรัสเซียมีอิทธิพลมากขึ้น ขณะที่สหรัฐยังคงรักษาฐานอำนาจที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้
อียูจึงไม่สามารถละเลยบทบาทของอาเซียนและไทยในภูมิภาคไปได้ อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือบางประการซึ่งส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือของทั้ง 2 ภูมิภาค ซึ่งโอกาสต่อไปผมจะเสนอบทวิเคราะห์ และข้อเสนอเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียน และอียูให้เกิดขึ้นให้ได้ครับ
แหล่งที่มา : cioworldbusiness.com
30/10/2565
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando