บริการชุมชน สะท้อนความรับผิดชอบสังคม
การดำเนินกิจการของฮาร์วาร์ดมีส่วนสร้างรายได้ ให้เมืองบอสตันและเคมบริดจ์อย่างมาก โดยเกิดการจ้างงานมากถึง 48,000 ตำแหน่ง จากบริษัทวิจัยที่เข้ามาตั้งอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย รายงานปี ค.ศ. 2002 พบว่า รายได้จากกิจการส่วนนี้มากถึง 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้อีกส่วนมาจากการใช้จ่ายของนักศึกษาที่มีมากถึง 175 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
อย่างไรก็ตาม การสร้างงานและรายได้มหาศาลให้เมืองบอสตันและเคมบริดจ์นี้ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ฮาร์วาร์ดมีส่วนช่วยชุมชน ให้มีรายได้และพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น แต่ฮาร์วาร์ดยังดำเนินกิจกรรมอื่นอีกในการช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนผ่านการใช้ศักยภาพและทรัพยากรของฮาร์วาร์ด ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ที่ฮาร์วาร์ดดำเนินการเพื่อบริการและพัฒนาชุมชน ได้แก่
จัดตั้ง ldquo;Community Affairsrdquo; หน่วยงานเฉพาะดูแลชุมชน
การเกิดขึ้นของหน่วยงานเฉพาะกิจนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ผู้บริหารเมือง คนในชุมชน รวมถึงองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมรวมถึงสวัสดิการที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน
การดำเนินการของหน่วยงานนี้ เป็นไปในลักษณะหน่วยงานที่ให้ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนของมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ซึ่งเปิดกว้างให้ทุกคนในชุมชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้
จัดสรรทรัพยากร เพื่อพัฒนาชุมชน
ฮาร์วาร์ดมีแนวคิดในการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่า 200 โครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการที่ให้ความรู้ การศึกษา และโครงการการช่วยเหลือตามความต้องการชุมชน โดยจัดสรรบุคลากร องค์ความรู้ และงบประมาณสำหรับพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
การให้ความรู้กับชุมชน ฮาร์วาร์ดเชื่อว่า การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนนั้นต้องเริ่มจากการที่คนในชุมชนมีความรู้ โดยเฉพาะในยุคสังคมฐานความรู้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในชุมชนต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน และได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาตามความถนัดและความสนใจ
ตัวอย่างเช่น การส่งนักศึกษาฝึกงานสอนหนังสือในโรงเรียนประจำชุมชน การส่งเสริมให้คนในชุมชนรับโอกาสเรียนต่อผ่านโปรแกรมศูนย์ศึกษาต่อเนื่องของมหาวิทยาลัย (The Harvard Extension School) การจัดชั้นเรียนพิเศษช่วงปิดภาคฤดูร้อน ให้นักเรียนด้อยโอกาส และนักเรียนที่พ่อแม่มีฐานะปานกลาง เพื่อเตรียมกลุ่มคนเหล่านั้น ให้สามารถพัฒนาตนเองจนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่อไปได้
การส่งเสริมการพัฒนาเมือง ฮาร์วาร์ดมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบมหาวิทยาลัย ให้เอื้อต่อการเป็นเมืองแห่งความรู้ และมีบรรยากาศที่คนใช้ชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย มหาวิทยาลัยจึงมีโครงการมากกว่า 100 โครงการ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมือง ให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ โดยมหาวิทยาลัยจะจัดสรรบุคลากรทั้งนักศึกษา คณาจารย์ รวมถึงบุคลากรเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน
ตัวอย่างเช่น การจัดหาที่อยู่แก่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย การจัดหาอาหารเพื่อผู้อดอยาก และการพัฒนางานวิจัยเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย รวมถึงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน
สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนของคนในชุมชน
นอกจากที่มหาวิทยาลัยได้ช่วยเหลือชุมชนโดยตรงแล้ว ฮาร์วาร์ดยังมีโครงการที่ให้คนในชุมชน มีส่วนร่วมบริจาคและลงแรงในงานส่วนรวม โดยจัดเป็นกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางระดมทรัพยากร
ตัวอย่างเช่น การให้เจ้าหน้าที่จัดหาสินค้าเพื่อจัดจำหน่าย และนำรายได้ช่วยเหลือองค์กรช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง การจัดโครงการให้นักศึกษาและผู้เกษียณอายุเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร อาทิ โครงการต่อต้านความอดอยากและโรคเอดส์ ซึ่งดำเนินการมากว่า 15 ปีแล้ว
สะท้อนคิดสู่พันธกิจด้านการบริการวิชาการวิชาชีพแก่ชุมชนของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งพันธกิจด้านนี้ยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญและดำเนินการเท่าที่ควร ดังนั้นเป็นความจำเป็นยิ่งที่ มหาวิทยาลัยไทย จำเป็นต้องตื่นตัวและยึดถือเป็นพันธกิจที่ต้องดำเนินการอย่างมีคุณภาพและเกิดประสิทธิผล ด้วยการกำหนดเป้าหมาย บทบาท และแนวทางให้บริการชุมชนที่ชัดเจน ผมเชื่อว่า มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวมต่อไปได้
แนวทางที่ผมขอเสนอ เพื่อมหาวิทยาลัยและผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำไปประยุกต์ใช้ ได้แก่
จัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจดำเนินกิจการบริการชุมชน มหาวิทยาลัยควรมีการจัดตั้งหน่วยที่รับผิดชอบด้านนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมโยงกิจการของมหาวิทยาลัยและชุมชน และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่การระดมความคิด หยิบยกประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันจะส่งผลต่อการพัฒนาที่สอดคล้องความต้องการของชุมชน และดำเนินการได้ต่อเนื่อง
ใช้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาชุมชน เป็นการนำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มีความพร้อมอยู่แล้ว มาบูรณาการเข้าร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้จากการนำไปใช้แก้ปัญหาจริง
กระจายความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาชุมชน หากชุมชนใดที่มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่มากกว่าหนึ่งแห่ง อาจมีการสร้างความร่วมมือและแบ่งบทบาทความรับผิดชอบในการพัฒนาชุมชนตามจุดแข็งของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง อันจะทำให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนตามความถนัด และชุมชนได้รับโอกาสในการดูแลและตรงความต้องการให้ได้มากที่สุด
การบริการสังคมนับเป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่มหาวิทยาลัย ไม่สามารถละเลยได้ แต่ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เอาจริงเอาจัง และต่อเนื่อง อันจะมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย ซึ่งเกิดจากการนำความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยไปประยุกต์ใช้พัฒนาชุมชน
Catagories:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-11-02
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 118 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 84 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 202 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 166 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 149 ครั้ง