นโยบายการเงินการคลังในภาวะน้ำมันแพง



* ที่มาของภาพhttp://www.jobjob.co.th/backoffice/cmsimg/imgbox/20061128132722000000000001.jpg

สถานการณ์ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่เหนือระดับ 96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำนักคาดการณ์ทางเศรษฐกิจหลายสำนักต่างออกมาประกาศปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวแปรขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคและการลงทุนของภาครัฐ และการค้าระหว่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ทำให้มีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ส่งผลทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งจนเกินไป

หากพิจารณาในเชิงทฤษฎี การใช้นโยบายการเงินและการคลังภายใต้ภาวะเช่นนี้ มีความยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องเผชิญปัญหา ldquo;หนีเสือปะจระเข้rdquo;

ภาวะหนีเสือปะจระเข้ของนโยบายการเงิน

ธปท.ต้องเผชิญแรงกดดัน 2 ด้านในการใช้นโยบายการเงิน โดยเฉพาะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น

หาก ธปท.พยายามที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลทำให้สามารถลดแรงดึงดูดไม่ให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาได้ ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป แต่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ เพราะอาจกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนและประชาชน

แต่หาก ธปท.พยายามที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะส่งผลในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ อาจจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ได้ แต่จะทำให้ค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการส่งออก รวมทั้งจะทำให้ประชาชนที่เป็นหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีก

ภาวะหนีเสือปะจระเข้ของนโยบายการคลัง

รัฐบาลต้องเผชิญแรงกดดัน 2 ด้าน คือ แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

หากรัฐบาลการใช้จ่ายหรือลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาก จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง แต่อาจจะทำให้อุปสงค์มวลรวม (aggregate demand) สูงขึ้น ซึ่งจะดึงให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก

ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลการใช้จ่ายหรือลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน้อย อาจจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวลง แต่จะสามารถลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อได้

นโยบายการเงินและการคลังควรเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า ธปท.ควรพิจารณาใช้นโยบายการเงินไปในทิศทางผ่อนคลาย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งจะไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก เพราะประชาชนและภาคเอกชนจะยังไม่ลงทุนและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลงอยู่แล้ว

ในขณะที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งการใช้จ่ายและลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ไม่ควรเน้นการส่งเสริมการส่งออกมากจนเกินไป เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อมากขึ้น

ทั้งนี้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐจำนวนมากจะไม่กระทบต่อภาวะเงินเฟ้อมากนัก เพราะเป็นการทดแทนอุปสงค์มวลรวมที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปีหน้า นอกจากนี้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีการนำเข้าในสัดส่วนสูง ซึ่งจะไม่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และยังเป็นผลดีในการลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอีกด้วย
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-11-07