ความมั่นคงของคนไทยอยู่ที่ไหน
ถามหาความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคง 5 ใน 7 ด้านของคนไทยยังไม่มั่นคงในยุคปัจจุบัน แนวคิดเรื่องความมั่นคงได้เปลี่ยนแปลงจากความมั่นคงทางทหาร เป็นความมั่นคงของมนุษย์ (Human security) ซึ่งเน้นความอยู่ดีกินดีของบุคคล โดยองค์การสหประชาชาติได้จำแนกมิติของความมั่นคงของมนุษย์ออกเป็น 7 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ อาหาร สุขภาพ สภาพแวดล้อม ปัจเจกบุคคล ชุมชน และการเมือง
หากถามว่า คนไทยมีความมั่นคงของมนุษย์หรือไม่? เมื่อพิจารณาความมั่นคงของมนุษย์ทั้ง 7 ด้าน ในสถานการณ์ปัจจุบันของไทย กลับพบว่า ความมั่นคง 5 ใน 7 ด้าน ยังขาดความสมบูรณ์
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
คือ การมีอาชีพและมีรายได้เพียงพอที่จะเป็นหลักประกันในอนาคต และมีปัจจัยสี่ที่เพียงพอ แต่ในปัจจุบัน คนยากจนยังที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนยังมีอยู่ถึง 9 ล้านคน ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนยากจนและผู้ที่มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงต่อการมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพมากขึ้น
ความมั่นคงทางสภาพแวดล้อม
คือ การมีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ ไม่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ มลภาวะ การขาดแคลนน้ำ อากาศบริสุทธิ์ ที่ดินไม่เสื่อมโทรม แต่ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาภัยธรรมชาติ อาทิ ปัญหาภัยแล้งซึ่งกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ปัญหาที่ดินเสื่อมโทรม โดยมีที่ดินเสื่อมคุณภาพมากกว่า 100 ล้านไร่ จาก 300 กว่าล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 30 ในขณะที่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไปมาก
ความมั่นคงของแต่ละปัจเจกบุคคล
คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปลอดภัยจากอาชญากรรม ฉกชิงวิ่งราว หรือโจรผู้ร้าย การมีครอบครัวและชุมชนที่มั่นคงพึ่งพาอาศัยกันได้ และแต่ละคนอยู่อย่างสบายใจ แต่ในภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน ครอบครัวขาดความเข้มแข็ง และมีการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น คนในสังคมมีความเป็นปัจเจกชนสูง ทำให้การพึ่งพาอาศัยกันมีน้อยลง ขณะที่คดีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น โดยจำนวนคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ ในปี พ.ศ.2546 ได้รับแจ้งจำนวน 11,075 คดี เพิ่มจากปี 2545 จำนวน 3,137 คดี หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 แต่สามารถจับผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้เพียงร้อยละ 36.34 น้อยกว่าปี 2545 ซึ่งจับกุมได้ร้อยละ 44.29
ความมั่นคงในชุมชน
คือ การไม่ถูกคุกคามทางวัฒนธรรม จนทำความเป็นตัวตนทางวัฒนธรรมหายไป แต่ ณ ปัจจุบันชุมชนจำนวนมากถูกคุกคามทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะชุมชนไทยมุสลิมที่ถูกคุกคามจากการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เคารพในความเป็นคนไทยมุสลิม มีพฤติกรรมที่ผิดต่อหลักความเชื่อ และพยายามที่จะกลืนทางวัฒนธรรม เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้กว้านซื้อที่ดินและทรัพย์สินของคนไทยพุทธที่ต้องการโยกย้ายไปสู่ที่อื่น เพราะกลัวจะตกเป็นของชาวไทยมุสลิม รัฐบาลพยายามสถาปนาโซนนิ่งเชื้อชาติไทยและความเหนือกว่าขึ้นมา ทำให้เห็นถึงการแบ่งแยกเชื้อชาติ และไม่ยอมรับในความแตกต่าง
ความมั่นคงทางการเมือง คือ การมีสิทธิเสรีภาพในการเขียน การพูด ความคิด ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผ่านนโยบาย กฎหมาย บุคคล หรือถูกเลือกปฏิบัติหากเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยให้อำนาจแก่คนคนเดียวในการตัดสินใจทุกอย่าง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย และยังจำกัดเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชนในมาตรา 9 (3) ถึงแม้ว่ารัฐบาลยังไม่ประกาศใช้มาตราดังกล่าว ถึงกระนั้นประชาชนยังคงไม่มั่นใจในสิทธิเสรีภาพของตนเอง ตราบใดที่พระราชกำหนดนี้ยังไม่ถูกยกเลิก หรือถูกนำเข้าไปพิจารณาในสภาฯ
กล่าวโดยสรุป ความมั่นคงของคนไทยยังมีไม่มากนัก และเสี่ยงต่อการถูกคุกคามความมั่นคงได้ตลอดเวลา นับเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขปัญหาความมั่นคงต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้