รัฐบาลจัดงบไม่สร้างสรรค์

การประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อ 31 ส.ค. 2548 ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2549 ผมได้อภิปรายงบประมาณฉบับนี้ โดยใช้คำว่าเป็น การจัดทำงบประมาณ lsquo;ไม่สร้างสรรค์rsquo; คำว่า ldquo;ไม่สร้างสรรค์rdquo; ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า การทำแบบเดิม ๆ หรือไม่คิดค้นสิ่งใหม่ แต่หมายความว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การจัดทำงบประมาณฉบับนี้ไม่สร้างสรรค์อย่างไร ผมขออธิบายใน 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก จัดงบประมาณไม่ถูกกาลเทศะ ภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าสมมติฐานของการจัดทำงบประมาณมาก จึงมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า หรือทำให้ขาดดุลงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง พร้อมกับระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันและปัญหาภัยธรรมชาติ การบริหารเศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้เป็นลักษณะ ldquo;หนีเสือปะจระเข้rdquo; การเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้มีปัญหาเงินเฟ้อ แต่การควบคุมเงินเฟ้อจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก แต่ควรเน้นการรักษาเสถียรภาพมากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ไม่เลวร้าย แต่อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากราคาน้ำมันยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเพราะราคาสินค้าสูงขึ้น

ประเด็นที่สอง จัดงบประมาณไม่ถูกที่ถูกทาง งบประมาณหลายส่วนไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัดและโครงการ SML ถูกจัดไว้ในงบกลาง ทั้งที่ควรจะเป็นความรับผิดชอบของมหาดไทยหรือการปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดงบประมาณดังกล่าวมุ่งเน้นให้นายกฯ lsquo;สะดวกใช้rsquo; กล่าวคือ ไม่ต้องกำหนดโครงการล่วงหน้า หรือไม่ต้องมีรายละเอียดของโครงการ และไม่ต้องผ่านระบบปกติของการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเหมือนโครงการอื่น ๆ ที่ถูกเสนอเข้ามาของบประมาณ

ประเด็นที่สาม จัดงบประมาณไม่ถูกขั้นตอน รัฐบาลจัดงบประมาณเพื่อการจัดซื้อฮาร์ดแวร์ทั้งที่ยังขาดความพร้อมด้านคนและซอฟท์แวร์ เห็นได้จากการจัดงบจัดซื้อคุรุภัณฑ์คอมพิวเตอร์รวม 6,316 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่จัดให้เพียง 2-3 พันล้านบาท แต่ปัญหาคือข้าราชการจาก 280 กรมเสนอโครงการเข้ามา มีไม่ถึง 20 กรมที่บุคลากรที่มีความรู้ สามารถเขียนโครงการของบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีโครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตโรงเรียน 1,006 หน่วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงบในการจัดซื้อด้านฮาร์ดแวร์ แต่ครูและนักเรียนยังขาดความรู้และทักษะด้าน IT รวมทั้งนโยบาย 1 คน 1 โน้ตบุ๊ก ที่เน้นการจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กแจกนักเรียน ทั้ง ๆ ที่นักเรียนจำนวนมากใช้งานและบำรุงรักษาไม่เป็น ที่สำคัญคือยังไม่มีการพัฒนาเรื่องจริยธรรมการใช้ IT ซึ่งจะทำให้นักเรียนใช้โน้ตบุ๊กผิดวัตถุประสงค์

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-09-01