การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา โดยการปรับโครงสร้างภาษี

ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานได้มีการประกาศนโยบายออกมามากมาย ซึ่งนโยบายที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา โดยการปรับโครงสร้างภาษี และจูงใจคนให้ปฏิบัติตาม โดยกำหนดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ ผมเห็นว่าวิธีดังกล่าวเป็นวิธีการที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเสนอความเห็น คือ รัฐบาลควรมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ตามหลักวิชาการก่อน

เนื่องจาก ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า การนำเอานโยบายมาบังคับใช้โดยขาดการศึกษาให้รอบคอบเสียก่อนนั้นส่งผลเสียมากกว่า เช่น การปรับลดภาษีรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ไม่เกิน 2,000 ซีซี จากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 30 ซึ่งรัฐคาดว่าจะไม่มีผลต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพราะการลดอัตราภาษีจะทำให้มีการใช้รถขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้นด้วย แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงคือ รายได้จากภาษีรถยนต์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ถึง 7,000 ล้านบาทใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2548 นอกจากนี้มาตรการนี้ยังไม่สอดคล้องกับนโยบายอื่น ๆ ที่รัฐประกาศใช้ เช่น การสร้างระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น แต่รัฐกลับสนับสนุนให้คนซื้อรถยนต์มากขึ้น รวมทั้งนโยบายประหยัดน้ำมัน การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษี ทำให้แนวโน้มการบริโภคน้ำมันในอนาคตเพิ่มขึ้นด้วย เป็นต้น

ดังนั้นก่อนที่รัฐจะนำเอามาตรการทางด้านภาษีมาบังคับใช้นั้น ควรมีการศึกษาเสียก่อนว่า มาตรการทางภาษีต่าง ๆ จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้หรือไม่ อัตราภาษีที่จะจัดเก็บควรอยู่ในอัตราเท่าไร หรือควรให้นำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้เท่าไร ทั้งนี้เพื่อมิให้กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐในภาพรวม ทำให้รัฐบาลสามารถรักษางบประมาณสมดุลดังที่ตั้งงบฯไว้ได้ และสามารถทำโครงการต่าง ๆ ที่สัญญาไว้แก่ประชาชนได้

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-03-14