กรอ. การซ้ำรอยของการดำเนินงานอย่างไม่รอบคอบ
กระทรวงการคลังได้แก้ปัญหากองทุนให้กู้ยืมที่ผูกผันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หรือ ICL กรณีที่วงเงินที่ได้รับการอนุมัติไม่เพียงพอต่อความต้องการกู้ยืมของประชาชน โดยจะหาทางออกให้ กรอ.ไปกู้เงินจากธนาคารออมสินมาเป็นการชั่วคราว เพื่อมาปล่อยกู้ให้กับนักเรียนในโครงการพิเศษก่อน และจะตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาใช้คืนในปีต่อไป ซึ่งจากการประเมินพบว่า กรอ.อาจต้องกู้เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท
ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และกระทรวงศึกษาธิการได้คาดการณ์ว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอกับจำนวนผู้เรียนที่จะมากู้คือ 5-6 แสนคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดสรรงบเพื่อปล่อยกู้นักศึกษาปีที่ 1 ที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ จำนวน 4,800 ล้านบาท แต่ภายหลัง กรอ.ได้ดำเนินโครงการพิเศษให้ผู้ที่ทำงานแล้วแต่ต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาโท สามารถกู้ยืมเพื่อใช้ในการศึกษาต่อได้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาบุคลากรของประเทศ อีกทั้งที่ผ่านมามีการโหมประชาสัมพันธ์อย่างมากเพื่อให้คนเข้ามากู้เงิน ทำให้มีนักศึกษาที่แสดงความประสงค์ในการกู้ยืมมากกว่าที่คาดไว้ โดยมีผู้กู้จำนวนไม่น้อยที่มีฐานะดีหรือมีเงินอยู่แล้ว ประกอบกับการปรับเพดานเงินค่าเล่าเรียนของสถาบันอาชีวศึกษา ทำให้เงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรก่อนหน้านี้ไม่เพียงพอ
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโยบายของรัฐในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้
ขาดความรอบคอบในการดำเนินโยบาย โครงการดังกล่าวเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สะท้อนว่า รัฐบาลขาดความรอบคอบในการกำหนดนโยบาย ไม่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และไม่ศึกษาผลกระทบที่ตาม โดยเฉพาะการปล่อยกู้โครงการพิเศษสำหรับนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนการปล่อยกู้ในปีแรกที่ทาง สกอ. ได้ประกาศไว้ ทั้งนี้หากเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการพัฒนาบุคลากรแล้ว น่าจะมีการกำหนดไว้ตั้งแต่แรก เพื่อให้สามารถจัดเตรียมงบประมาณได้เพียงพอกับความต้องการ และในความเป็นจริง ผู้กู้ในโครงการพิเศษนี้ควรได้รับการพิจารณาภายหลังจากผู้กู้ในระดับปริญญาตรี เนื่องจากเป็นผู้ที่มีงานทำ มีความสามารถในการจ่ายมากกว่าผู้กู้ในระดับปริญญาตรี ซึ่งบางคนเป็นผู้เรียนมีความจำเป็นต้องกู้มากกว่า เพราะมีฐานะยากจน
การโหมประชาสัมพันธ์โดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้มีการความต้องการที่จะกู้มากกว่าที่คาดไว้ โดยขณะนี้มีผู้เรียนขอใช้สิทธิสูงถึง 95% จากที่คาดไว้ 80% ของผู้ที่เข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 ทั้งหมด จึงทำให้เงินไม่เพียงพอ แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ การที่ผู้กู้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นการให้กู้ยืมที่ไม่มีดอกเบี้ย ทั้งที่กองทุนดังกล่าวมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการกู้ยืมจาก กยศ. กล่าวคือจะมีการปรับเงินต้นตามอัตราเงินเฟ้อ กว่าผู้เรียนจะเรียนจบจนถึงทำงานมีเงินเดือน 16,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในการชำระหนี้แล้ว ผู้กู้อาจมีภาระหนี้ที่ต้องชำระจำนวนมากก็เป็นได้
ขาดระบบการกลั่นกรองผู้ที่จะกู้ยืม ทำให้เกิดปัญหาการใช้บริการเกินความจำเป็น แม้ว่าโดยหลักการของ กรอ. นั้นมีปรัชญาพื้นฐานคือ นักเรียนทุกคนมีสิทธิกู้ แต่จากการไม่มีระบบกลั่นกรองผู้กู้ยืม รวมถึงการไม่กำหนดระยะเวลาคืนเงิน จึงอาจทำให้ผู้มาขอกู้โดยความเชื่อว่า ไม่มี ไม่ต้องจ่าย ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกมาก ส่งผลกระทบต่องบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาที่อาจบานปลายไปจากประมาณการที่ตั้งไว้
แม้รัฐบาลจะมีความพยายามในการลงทุนทางการศึกษา ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นการลงทุนเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้น ๆ คือ การวางแผนในการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ และกำหนดนโยบายโดยศึกษาผลกระทบรอบด้าน เพื่อไม่ให้การลงทุนดังกล่าวเป็นการสูญเสียงบประมาณ โดยที่ประเทศได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดนโยบายการให้กู้ยืมสอดคล้องกับความต้องการของสังคม เพราะการผลิตบัณฑิตเป็นจำนวนมากจนเกินความต้องการของตลาด อาจจะทำให้ผู้จบการศึกษาไม่สามารถหางานทำได้ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาของกองทุนในอนาคต เพราะจะมีผู้กู้จำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้คืนได้