อย่าเพิ่มจำนวนคนจนด้วยการศึกษา

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา คุณปณิธาน ยามวินิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้กล่าวในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการของสำนักงานสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาฯ ว่า ldquo;ในอีก 5 ปีข้างหน้า นับตั้งแต่ปี 2549 จะมีการผลิตกำลังคนระดับปริญญาตรี ปวส. ปวช. ออกมาทั้งหมด 2.3 ล้านคน แต่อุตสาหกรรมหลัก 13 สาขา ต้องการแค่ 300,000 คน ที่เหลืออีก 2 ล้านคน เป็นแรงงานเกินความต้องการ ต้องไปหางานอย่างอื่นที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาrdquo;

ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งหนึ่งถึงความไม่สอดคล้องระหว่าง การผลิตกำลังคนกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเป็นความไม่สอดคล้องทั้งใน ldquo;เชิงปริมาณrdquo; และ ldquo;คุณภาพrdquo; แรงงานล้นตลาดในบางสาขา แต่กลับขาดแคลนในบางสาขา และแรงงานส่วนหนึ่งต้องทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา หรือมิเช่นนั้นก็ต้องรับสภาพตกงานเป็นเวลานาน

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ในระดับที่สูงขึ้น โดยมีแนวคิดว่า การที่คนยากจนนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากได้รับการศึกษาน้อย การแก้ปัญหาจึงส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา โดยนอกจากให้เรียนฟรีจนถึงระดับมัธยมแล้ว ยังส่งเสริมให้คนเข้าสู่การอุดมศึกษาโดยตั้งเป้าให้เด็กไทยเรียนถึงระดับอุดมศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของนักเรียนทั้งหมด โดยไม่ได้วางแผนด้านกำลังแรงงาน เช่น ให้มหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนรับนักศึกษาตามความต้องการของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมด้วยกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ผูกกับรายได้อนาคต (ICL) ส่งผลให้มีเด็กเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากขึ้น

แนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว เพราะมองเพียงด้านเดียว โดยไม่ได้พิจารณาหาแนวทางและวิธีป้องกันปัญหาแรงงานล้นตลาด ไม่ได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่สอดคล้องกับจำนวนแรงงาน แนวโน้มปัญหาการตกงานในอนาคตย่อมมีมากขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรืออาจเรียกได้ว่า ยิ่งเรียนสูง ยิ่งว่างงาน ยิ่งยากจน

ปัญหานี้นับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ 12 ปี ตามที่ท่านหัวหน้าพรรคได้ประกาศในวาระประชาชนไปแล้ว ในส่วนของการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจภาคต่าง ๆ จะต้องมีความชัดเจน เพื่อให้สามารถวางแผนผลิตบุคคลากรในสัดส่วนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ที่สำคัญ คุณภาพของบุคลากรจะต้องได้มาตรฐาน การศึกษาในทุกระดับชั้นจะต้องมีคุณภาพ ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการส่งเสริมทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทักษะด้านเทคโนโลยี และทักษะด้านภาษา สถาบันการศึกษาและคณาจารย์ต้องไม่แยกตัวออกจากสังคม แต่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ เพื่อให้ไม่เกิดช่องว่างระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับโลกของงาน อันจะทำให้สมารถผลิตแรงงานที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในระดับประเทศและแข่งขันได้ในระดับโลก

ความล้มเหลวในการพัฒนาคน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและรอบคอบ โดยคณะรัฐบาลที่มีความจริงใจและมีความปรารถนาดีต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-08-19