เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร?
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาแถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำเดือน มิถุนายน 2548 ทำให้เห็นภาพของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ธปท.ยังได้คาดการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังไว้ด้วย ซึ่งจากการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ผมมีความเห็นบางส่วนที่แตกต่างออกไปจาก ธปท.
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่า ธปท.จะปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2548 เหลือ 3.5-4.5% แต่ ธปท. คาดว่า เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจาก ผู้ประกอบการส่งออกชี้แจงว่าแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าจะลดลง เพราะ การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสต๊อคไว้มีอยู่ในระดับสูงมากแล้ว รวมทั้งการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น เหล็กและทองคำอย่างผิดปกติ เกิดจากปัจจัยชั่วคราว ในครึ่งปีหลัง การนำเข้าจะไม่เร่งตัวมากเหมือนอย่างครึ่งปีแรก นอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ดีและยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว
แต่ผมกลับเห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 48 น่าจะต่ำกว่าที่ ธปท. คาดไว้ กล่าวคือ น่าจะขยายตัวไม่เกิน 4% เนื่องจากการขยายการส่งออกเป็นไปได้ยากในภาวะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะชะลอตัวลง เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากการลอยตัวราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกทำให้ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมทั้งการบริโภคของประชาชนที่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตชะลอการขยายการลงทุนด้วย นอกจากนี้โครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐจะไม่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากงบประมาณปี 2548 ที่จัดให้สำหรับเมกะโปรเจ็กต์มีจำนวนไม่มากนัก และทุกปีที่ผ่านมา งบลงทุนมีการเบิกจ่ายล่าช้า โดยงบลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2548 มีการเบิกจ่ายไม่ถึง 50% ของงบลงทุนทั้งหมด ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของรัฐจึงเป็นเรื่องยาก
การคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐในการดำเนินนโยบาย ภาคธุรกิจในการวางแผน และภาคประชาชนที่จะตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญในขณะนี้ ไม่ใช่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากเป็นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย เพราะประเทศเริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อสูงและขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสนใจในเป้าหมายนี้ด้วย