ควรรวมตัวเลขการพยากรณ์เศรษฐกิจของภาครัฐหรือไม่
จากความเห็นของท่านอาจารย์ วีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ทำการวิเคราะห์และเผยแพร่ผลการพยากรณ์เศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีตัวเลขเศรษฐกิจตัวเลขเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกันเอง
ผมเห็นว่า ความเห็นของท่านอาจารย์ วีรพงษ์ มีความน่าสนใจมาก เพราะสะท้อนถึงความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาของการเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจของหน่วยงานภาครัฐ เพราะการที่แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ อาจทำให้การส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจไปยังภาคเอกชนและประชาชนมีความสับสน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน และวางแผนทางการเงินของประชาชน
ความพยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง นับเป็นประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐทั้งสามแห่งต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีความถูกต้องและมีข้อมูลที่ตรงกัน ตลอดจนการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการวิเคราะห์และถกเถียงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและผลการพยากรณ์เศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นถึงประโยชน์ของการที่แต่ละหน่วยงานจัดทำการวิเคราะห์และพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจของตนเอง เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้แตกต่างกัน การมีผลพยากรณ์หลายชุดจะทำให้มีการถ่วงดุลกันเอง และยังเป็นการป้องกันการแทรกแซงของรัฐบาลในการวิเคราะห์และพยากรณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้ภาคเอกชนและประชาชนมีข้อมูลที่หลากหลายในการตัดสินใจเลือกใช้ข้อมูล
ถึงกระนั้น เหตุที่ผลการวิเคราะห์และพยากรณ์เศรษฐกิจของแต่ละหน่วยงานแตกต่างกัน อาจเกิดจากการใช้ทฤษฎี หรือการกำหนดตัวแปรและข้อสมมติ (assumption) หรือการใช้ข้อมูลที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์และการพยากรณ์ของแต่ละหน่วยงาน จึงต้องพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลังของการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสมมติเบื้องหลังที่แตกต่างกัน เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีวิจารณญาณที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
หากเป็นไปได้ ผมขอเสนอว่า ทั้งสามหน่วยงานอาจจะจัดสัมมนาประจำไตรมาส เพื่อนำผลการวิเคราะห์และพยากรณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละหน่วยงานออกมาเผยแพร่ และเปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิเคราะห์ นักธุรกิจ และประชาชนได้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อวิพากษ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อันจะทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย และความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับตัวเลขต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกมา ดีกว่าการเชื่อข้อมูลตัวเลขโดยไม่เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังของตัวเลขนั้น