แปรรูป กฟผ. สุดเสี่ยง

3 เสี่ยง แปรรูป กฟผ. เสี่ยงผูกขาด เสี่ยงค่าไฟไม่เป็นธรรม และเสี่ยงฮุบหุ้น เสนอทางออก 4 ข้อ ตั้งกรรมการกำกับที่เป็นอิสระจริง ๆ กำหนดกติกาการใช้ประโยชน์จากเขื่อนและสายส่งอย่างเป็นธรรม เลิกเงื่อนไข กฟผ.ผูกขาด และสร้างข้อจำกัดการใช้ Nominee

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2548 คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดสัมมนา เรื่อง ldquo;แปรรูป กฟผ.อย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์?rdquo; ผมในฐานะประธานการอภิปรายในการสัมมนา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเสี่ยง 3 ประการของการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไว้ดังนี้

ความเสี่ยงจากการผูกขาด แนวทางของรัฐบาลในการแปรรูป กฟผ. ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า เป็นเพียงการย้ายจากการผูกขาดโดย กฟผ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐ เป็นการผูกขาดโดย กฟผ.ที่มีพฤติกรรมแสวงหากำไรมากขึ้น ทั้งนี้เพราะรัฐบาลให้สิทธิ กฟผ.เช่าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจากกระทรวงการคลังในราคาถูก โดยมีข้อมูลว่า กฟผ.เช่าเขื่อน 13 แห่งเป็นเวลา 30 ปี ๆ ละ 130 ล้านบาทเท่านั้น แต่รายได้จากไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังน้ำสูงถึง 15,970.5 ล้านบาทต่อปี

อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกติกาการใช้ประโยชน์จากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูก กฟผ.นำไปใช้ทำกำไรอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับกรณีที่ ปตท.ผูกขาดท่อก๊าซ นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้สิทธิผลิตไฟฟ้าร้อยละ 75 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้น จึงไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน และไม่ทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ

ความเสี่ยงจากการกำหนดค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เนื่องจากคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) 15 คน มีตัวแทนจากผู้ใช้ไฟฟ้าเพียง 3 คน ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ สังเกตได้จากการปรับสูตรค่าไฟฟ้าที่ผ่านมา เป็นการตัดกลไกการคืนกำไรส่วนเกินให้กับประชาชนออกไป ทำให้ค่าไฟฟ้าตามสูตรใหม่จะสูงกว่าค่าไฟฟ้าตามสูตรเดิม 1.4 สตางค์ทุก ๆ 4 เดือน ทำให้รายได้ของ กฟผ.ตลอด 3 ปีที่ใช้สูตร Ft ใหม่ จะมากกว่ารายได้ที่เก็บตามสูตรเดิม 32,783 ล้านบาท

ในส่วนของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า มีแนวโน้มว่าอาจถูกการเมืองแทรกแซงได้ เนื่องจากระเบียบสำนักนายกฯ ระบุให้กรรมการชุดนี้มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาที่แต่งตั้งโดย รมว.พลังงาน เป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้นายกฯ แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ซึ่งกระบวนสรรหาเช่นนี้จึงไม่มีทางจะได้คนที่เป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง

ความเสี่ยงจากการกระจายหุ้นไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ถึงแม้รัฐบาลจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจที่รัดกุมขึ้น โดยให้มีการกระจายหุ้นแบบขั้นบันได ให้โอกาสกับผู้จองซื้อหุ้นจำนวนน้อยก่อน และไม่ให้บุคคลใดถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียน แต่วิธีการนี้ยังมีช่องโหว่ เพราะการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการสุ่มเลือกมากเท่าไร จะยิ่งตรวจสอบยากขึ้นเท่านั้น ประกอบกับเพดานการถือหุ้นไม่เกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียน เป็นตัวเลขที่สูงมาก หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ในการสัมมนาครั้งนี้ผมได้เสนอข้อเสนอ 4 ประการเกี่ยวกับ กฟผ. ดังนี้
ชะลอการกระจายหุ้น กฟผ.ออกไปก่อน แล้วเร่งตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าที่เป็นอิสระและสมดุล จากนั้นจึงให้คณะกรรมการฯ อิสระ เป็นผู้กำหนดกติกาการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าขึ้นใหม่ ส่วนคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับ Ft ต้องมีสัดส่วนของผู้บริโภคที่สมดุล กับตัวแทนฝ่ายอื่น ๆ

แยกกิจการผูกขาด ออกจากกิจการที่มีการแข่งขัน โดยกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์จากเขื่อน และระบบสายส่งอย่างเป็นธรรม กำหนดค่าเช่าที่เหมาะสมกับรายได้จากเขื่อน หรือให้แข่งขันประมูลกันเข้ามาขอเช่าบริหารจัดการเขื่อน ตลอดจนกำหนดค่าใช้บริการสายส่งไฟฟ้าเท่าเทียมกัน และควบคุมค่าใช้บริการสายส่งไฟฟ้า รวมทั้งกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์จากเขื่อนและสายส่ง ไม่ควรอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งเพียงรายเดียว เข้ามาผูกขาดการใช้ประโยชน์จากระบบสายส่ง โดยเฉพาะการติดตั้งใยแก้วนำแสง บนโครงข่ายของระบบสายส่ง เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม

ยกเลิกเงื่อนไขให้ กฟผ.ได้สิทธิการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 75 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ แต่ควรเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และในอนาคต อาจจะแยก กฟผ. ออกเป็นหลายบริษัท เพื่อไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาด
สร้างข้อจำกัดในการใช้ตัวแทนซื้อหุ้น เช่น ใช้เทคโนโลยีการสุ่มเลือก ที่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ง่าย กำหนดเพดานการถือหุ้นให้ต่ำลง เช่นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของทุนจดทะเบียน เพื่อให้การใช้ตัวแทนเข้าซื้อหุ้น มีความยากลำบากมากขึ้น และเปิดเผยรายชื่อผู้จอง และผู้ที่ได้รับหุ้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-10-18