เด็กติดเน็ต-ติดเกม แก้ได้

ปัจจุบันเทคโนโลยีออนไลน์มีแนวโน้มสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาพฤติกรรมการ ldquo;ติดเน็ท ติดเกมrdquo; ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นและกำลังบั่นทอนคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในทุกขณะ แม้ว่าภาครัฐจะให้ความสนใจ และมีมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหานี้ในรูปแบบต่าง ๆ แต่กลับไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

จากผลงานวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาถึงปัญหาอาการติดเน็ท-เกม ตั้งแต่ปี 2540 - 2550 โดยพบว่าอัตราผู้เสพติดอินเตอร์เน็ตและเกมในประเทศไทยปัจจุบันมีสูงถึง 1.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 5 ndash; 18 ปี มีร้อยละ 58.6 เล่นติดต่อนาน 3-5 ชั่วโมง ร้อยละ 35.1 เล่นติดต่อนาน 1-2 ชั่วโมง และร้อยละ 6.3 เล่นติดต่อนานกว่า 8 ชั่วโมง มีเพียงร้อยละ 20 ที่ใช้เพื่อหาความรู้ และร้อยละ 80ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เล่นเกมประเภทต่อสู้และใช้ความรุนแรง สนทนากับเพื่อนผ่านระบบออนไลน์ (Chat room) ดูหนัง ฟังเพลง และภาพลามกอนาจาร เป็นต้น
ในความเป็นจริงนั้นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและเกมไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้จะใช้ไปในทางที่สร้างสรรค์หรือไม่สร้างสรรค์ แต่จากตัวเลขผลการวิจัยได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้ใช้ไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ยังไม่สามารถสร้างเกราะป้องกันตัวเองได้ดีเพียงพอ อินเทอร์เน็ตและเกมจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบต่อการเรียน การดำเนินชีวิต และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเด็กที่ติดเกมมักจะขาดความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น


ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหาเด็กและเยาวชนติดอินเทอร์เน็ตและเกม ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่ส่งที่น่าสนใจคือ ในต่างประเทศมีแนวทางการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนติดอินเทอร์เน็ตและเกมอย่างไร โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างประเทศจีน และเกาหลี ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาการติดอินเทอร์เน็ตและเกมของเด็กและเยาวชนอยู่ในระดับที่รุนแรง


ประเทศจีน

จากการขยายตัวของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน ทำให้ปัจจุบันประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 137 ล้านคน (2550) เป็นผู้เสพติดอินเทอร์เน็ตประมาณ 2.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ในจำนวนนี้ มีถึงร้อยละ 40 ที่ติดเกมออนไลน์ขั้นรุนแรง เด็กและเยาชนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง และมีแนวโน้มก่ออาชญากรรม และฆ่าตัวตายสูง

ผู้นำประเทศจีน ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้หาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และจัดผู้ติดอินเทอร์เน็ตอยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้มีติดยาเสพติด มีการจัดตั้งศูนย์บำบัดอินเทอร์เน็ตที่เมืองต้นชิ่ง กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้นำมาตรการทางทหารเข้ามาช่วยบำบัดเป็นเวลา 1 เดือน นอกจากนี้ ยังได้จัดคลินิกบำบัดผู้เสพติดอินเทอร์เน็ตกระจายตามหัวเมืองใหญ่ โดยมีจิตแพทย์เตรียมไว้ให้คำปรึกษา

ประเทศเกาหลีใต้


เป็นประเทศที่ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก โดยพบว่าร้อยละ 70 ของประชากรเกาหลีทั้งสิ้นสามารถเข้าถึงอินเตอร์ แต่พบว่าการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 เป็นการเล่นเกม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ประสบปัญหาอาการติดอินเทอร์เน็ตและเกมอย่างหนัก


การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนติดอินเทอร์เน็ตและเกมของเกาหลี จะเน้นการแก้ปัญหาที่ตัวเด็ก โดยครูจะสั่งการบ้าน ให้เด็กไปกำหนดเวลาเล่นอินเทอร์เน็ต และจัดทำแบบประเมินผลการใช้อินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง ซึ่งครูและผู้ปกครองจะร่วมมือกันในการสอดส่องดูแลพฤติกรรม พร้อมกับตรวจผลการประเมินของเด็ก และมีการให้รางวัลทุกครั้งเมื่อเด็กสามารถควบคุมตนเองได้
การปรับใช้ในประเทศไทย

ประเทศจีน เป็นตัวอย่างของการนำเครื่องมือที่เข้มงวดเข้ามาใช้แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนติดอินเทอร์เน็ตและเกม โดยใช้กระบวนการทางทหารเข้ามา ซึ่งวัตถุประสงค์ของการทำรูปแบบทางทหารมาใช้ เพื่อต้องการฝึกวินัยในการใช้ชีวิต ไม่ใช้หมกมุ่นกับการเล่นอินเทอร์เน็ตและเกมมากเกินไป หากประเทศไทยจะนำมาปรับใช้ อาจทำให้รูปแบบที่แตกต่างจากประเทศจีน แต่เป็นรูปแบบที่สามารถฝึกวินัยให้แก่เด็กและเยาวชนได้เช่นเดียวกัน


ประเทศเกาหลี เป็นตัวอย่างของการฝึกให้เด็กและเยาวชนได้ควบคุมตนเองในการใช้เวลา มีวินัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและเล่นเกม โดยไม่กระทบกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งวัตถุประสงค์จะเหมือนกันกับประเทศจีน


ดังนั้น หลักการที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ คือ การฝึกวินัย และการควบคุมตนเองให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงการหามาตรการทางสังคมเข้ามาร่วมด้วย โดยมีแนวทางในภาคปฏิบัติ ดังนี้

1.
กำหนดแนวทางที่ทำให้เด็กได้ควบคุมตนเอง

จัดตารางเวลา ครูผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กได้จัดตารางเวลา เพื่อฝึกให้ใช้เทคโนโลยีอย่างมีเหตุผลมากกว่าการใช้เพราะความอยาก เช่น ให้เด็กจัดตารางเวลาในแต่ละวัน เพื่อให้เด็กได้รู้ตัวว่าในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้างที่นอกเหนือจากการเล่นอินเทอร์เน็ตและเล่นเกม รวมถึง มีการประเมินตารางเวลาว่าสามารถทำตามตารางเวลาได้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหากเด็กไม่สามารถควบคุมตนเองในการใช้เวลาอย่างเหมาะสม ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้น คือ จะช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าของเวลา และสามารถบังคับตนเองในการดำเนินชีวิตมากขึ้น


ตั้งรางวัลและผลตอบแทน
การตั้งรางวัลเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เด็กเกิดความพยายามฝึกตนเองให้มีวินัยในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยครูและพ่อแม่ผู้ปกครองอาจตอบแทนในรูปสิ่งของหรือคำชมเชย ในกรณีที่เด็กใช้เทคโนโลยีในทางสร้างสรรค์ หรือสามารถควบคุมการใช้เวลาของตัวเองได้มากขึ้น


2.
ร่วมมือกันระหว่างภาคีต่างๆ ในสังคม

สถาบันครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองควรหาเวลาเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและเกม เพื่อจะได้รู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถตักเตือนและแนะนำเด็กด้วยภาษาที่เด็กเข้าใจ ไม่ใช่การห้ามปรามอย่างเดียวเช่นที่ผ่านมา และที่สำคัญควรแบ่งเวลาให้กับเด็กในการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นการสร้างเกราะป้องกันที่ดีที่สุด

องค์กรอิสระ หรือ NGO ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้เสพติดอินเทอร์เน็ตและเกม คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข แต่ยังพบว่า รูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐยังไม่ครอบคลุมและขาดความน่าสนใจ เนื่องจาก หน่วยงานของรัฐไม่สามารถทำงานเชิงรุก และมีภาระทางสังคมที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ดังนั้น รัฐบาลควรสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน องค์กรอิสระ หรือ NGO เข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดภาระภาครัฐ โดยมีเงื่อนไขที่จูงใจเพียงพอที่องค์กรเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนร่วม เช่น รัฐให้เงินทุนสนับสนุน รัฐลดภาษีเป็นพิเศษสำหรับภาคเอกชนที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่สร้างสรรค์

สื่อมวลชน เด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่รู้ถึงพิษภัยของการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและเกมไปในทางที่ไม่ถูกต้อง และมีอีกจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาหากใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นไปในทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น สื่อมวลชนควรเป็นสื่อกลางที่นำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลดี ผลเสีย ของการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมเด็กและเยาวชนตระหนักถึงปัญหาและพิษต่าง ๆ หากมีการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
แม้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะมีคุณประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และเกมคอมพิวเตอร์จะช่วยสร้างความสนุกสนานมากเพียงใด แต่หากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไม่ถูกต้อง และขาดการควบคุมตนเองในการใช้งานแล้ว ย่อมเกิดปัญหาตามมามาก ซึ่งในหลายประเทศตระหนักถึงปัญหานี้และได้หาแนวทางป้องกันและแก้ไข ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันควรตื่นตัว และเตรียมพร้อมกับปัญหาการใช้เทคโนโลยีในอนาคต เพราะแม้ว่าประเทศไทยคงไม่อาจปฏิเสธการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตและเกม แต่เราสามารถสร้างมาตรการป้องกันผลร้ายที่จะเกิดจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ: 
2007-07-05