ปฏิรูประบบคุ้มครองทางสังคม(2)

ผมได้กล่าวถึงบางส่วนของแนวคิดในการปฏิรูประบบคุ้มครองทางสังคมว่า ควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ผมกำลังศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดดังกล่าว เพราะหากมีการนำแนวคิดปฏิรูประบบคุ้มครองทางสังคมมาปฎิบัติจริง จะทำให้แรงงานทุกคนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามการที่แรงงานทุกคนจะได้รับการครอบคลุมอย่างทั่วถึง แรงงานทุกคนจะต้องมีส่วนจ่ายเงินสมทบตามความสามารถของแต่ละคน กล่าวคือ ให้แรงงานทุกคนสมทบตามรายได้ของแต่ละคน โดยกำหนดให้มีการทดสอบรายได้ และกำหนดให้มีอัตราเงินเดือนสูงสุดและต่ำสุดที่ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุน เพื่อมิให้ผู้มีรายได้สูงต้องจ่ายมากเกินไป และเพื่อให้คนยากจนไม่ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุน อัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ให้เป็นอัตราเดียวกับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมในปัจจุบัน โดยสามารถเลือกจ่ายเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี หรือรายปีก็ได้

แรงงานทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมในปัจจุบัน ได้แก่ การประกันในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย การจ่ายค่าคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร การจ่ายเงินชดเชยกรณีขาดรายได้ การประกันชราภาพ การประกันการว่างงาน และการประกันกรณีทุพลภาพและเสียชีวิต นอกจากนี้แรงงานที่มีบุตรที่ไม่อยู่ในวัยแรงงาน หรือบิดามารดาเป็นคนชราที่ไม่เคยอยู่ในระบบแรงงาน กองทุนประกันสังคมจะจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยให้บุตรและบิดามารดาได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมโดยอัตโนมัติ ทันทีที่แรงงานสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

จากการคำนวณของผมพบว่า หากนำกำลังแรงงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยเก็บในอัตราปัจจุบัน จะเก็บเงินสมทบจากประชนได้เพิ่มขึ้นอีก 1.17 แสนล้านบาท แต่การขยายจำนวนผู้ประกันตนและสิทธิประโยชน์ทำให้ค่าใช้จ่ายของกองทุนมากขึ้นด้วย ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องจัดงบประมาณมาสมทบเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับการให้บริการ ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถหาได้จากหลายช่องทาง เช่น การปรับโครงสร้างภาษี การเพิ่มอัตราการสมทบ การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารกองทุน เป็นต้น

เงื่อนไขความสำเร็จอยู่ที่การนำทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยใช้มาตรการจูงใจทั้งเชิงบวกและลบ อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าการอยู่นอกระบบ การเพิ่มมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้สูงกว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค การจัดบริการในระดับที่สูงกว่าความจำเป็นพื้นฐานสำหรับผู้จ่ายสมทบมากกว่าอัตราปกติเพื่อจูงใจให้คนรวยเข้าสู่ระบบ รวมทั้งการนำเงินของคนมีรายได้สูงบางส่วนมาช่วยผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งแตกต่างนโยบายประชานิยมที่จัดสรรบริการในลักษณะเหมือน ๆ กันและเท่า ๆ กันทุกคน โดยรัฐเป็นผู้อุดหนุนทั้งหมด

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-06-07