ความขัดแย้งของ ?โคล้านครอบครัว? กับ ?FTA?
นโยบายหาเสียง ldquo;โคล้านครอบครัวrdquo; ของพรรคไทยรักไทยในช่วงการเลือกตั้งปี 2548 สามารถเรียกคะแนนเสียงจากเกษตรกรทั่วประเทศ หลังจากนั้นรัฐบาลได้ตั้งบริษัทส่งเสริมธุรกิจการเกษตรไทย (สธท.) หรือที่เรียกกันว่า SPV (Special Purpose Vehicle) ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดซื้อและแจกโคให้กับเกษตรกรเพื่อเลี้ยง โดย SPV จะรับซื้อในราคาที่กำหนดตามอายุและน้ำหนักของโคตามสายพันธุ์
ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าในปี 2549 จะอนุมัติงบประมาณ 5 พันล้านบาท มาจัดซื้อโค 5 แสนตัวแจกให้กับเกษตรกร 2.5 แสนครอบครัว ส่วนปี 2550 จะแจกโค 7 แสนตัวให้กับ 3.5 แสนครอบครัว และปี 2551 จะแจกโค 8 แสนตัว ให้กับ 4 แสนครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความขัดแย้งกันเองในนโยบายของรัฐบาล โดยโครงการโคล้านครอบครัวนั้นขัดแย้งกับนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า เนื่องจากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย เกี่ยวกับการเปิดเสรีการนำเข้าโคเนื้อ จะส่งผลให้ประเทศไทยนำเข้าเนื้อโคคุณภาพดีและราคาถูกจากออสเตรเลียในปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้การเลี้ยงโคเนื้อของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่การเลี้ยงโคแบบตามมีตามเกิดของเกษตรกรในโครงการโคล้านครอบครัว จะแข่งขันกับการเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมของออสเตรเลียได้
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ เกษตรกรที่ทำอาชีพเลี้ยงโคอยู่แล้วอาจจะต้องเลิกอาชีพนี้ไป ขณะที่เกษตรกรที่เข้าโครงการโคล้านครอบครัวจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะ SPV จะรับประกันราคารับซื้อโค แต่การที่เนื้อโคราคาถูกจากออสเตรเลียเข้ามาแข่งขัน จะทำให้ SPV ต้องรับประกันราคารับซื้อสูงกว่าราคาตลาด ทำให้ SPV ขาดทุน และผลการขาดทุนจะกลายเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินในที่สุด
ผมไม่คิดว่า ความขัดแย้งเชิงนโยบายเช่นนี้เกิดจากกระบวนการกำหนดนโยบายที่ขาดการปรึกษาหารือหรือบูรณาการร่วมกัน เพราะกลไกการกำหนดนโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน ถูกผูกขาดโดยทีมนักวิชาการของพรรครัฐบาล โดยมีนายกฯเป็นผู้อนุมัติในขั้นสุดท้าย จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในซีกของรัฐบาลจะไม่ทราบว่านโยบายดังกล่าวมีความขัดแย้งกัน
ผมเชื่อว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ออกนโยบายโคล้านครอบครัว ซึ่งขัดแย้งกับความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย เพราะโครงการนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พรรครัฐบาลได้รับชัยชนะท่วมท้นจากประชาชนรากหญ้า ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลสนใจคะแนนเสียงมากกว่าประสิทธิผลของโครงการในการแก้ปัญหาความยากจน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องรีบเร่งหาคำตอบและแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเร่งด่วน หากมิฉะนั้นแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคอาจจะต้องล่มสลายเพราะไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศภายใต้ระบบการค้าเสรีได้