กำหนดให้การผ่านและบังคับใช้กฎหมายการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ
หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดการศึกษาของประเทศไทย ได้มีการตรากฎหมายการศึกษาตามมาอีกหลายฉบับ เพื่อให้การบริหารและการจัดการศึกษาเห็นผลเป็นรูปธรรม แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายการศึกษายังมีความล่าช้า
กลุ่มกฎหมายการศึกษา สำนักนิติกร สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (25 พ.ย. 2549) รายงานว่า มีกฎหมายและกฎกระทรวงที่สำคัญ ๆ กว่า 107 ฉบับ บังคับใช้ไปแล้ว 52 ฉบับ แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 55 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายการปฏิรูปการศึกษาจำนวน 42 ฉบับ ดำเนินการเสร็จ 15 ฉบับ การออกกฎกระทรวงตามความใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จำนวน 23 ฉบับ ดำเนินการเสร็จ 12 ฉบับ การออกกฎกระทรวงตามความใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 จำนวน 19 ฉบับ ดำเนินการเสร็จ 4 ฉบับ และการออกกฎกระทรวงตามความใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 จำนวน 23 ฉบับ ดำเนินการเสร็จ 21 ฉบับ
แม้กฎหมายการศึกษาจะคืบหน้าไปบ้าง แต่ยังมีกฎหมายและกฎกระทรวงสำคัญ ๆ กว่าครึ่งที่ยังค้างอยู่ ซึ่งมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยครั้ง เฉพาะในรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณฯ ทั้ง 2 สมัย เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 6 คน ทำให้การผลักดันร่างกฎหมายการศึกษาขาดความต่อเนื่อง รัฐมนตรี ศธ. แต่ละคน ต่างต้องการผลักดันนโยบายการศึกษาที่เห็นผลรวดเร็ว จนละเลยการผลักดันร่างกฎหมายการศึกษาอื่นที่สำคัญ อีกทั้ง รัฐมนตรี ศธ. แต่ละสมัยคิดเห็นต่างกัน โดยผลักดันกฎหมายเรื่องเดียวกันแต่ไปคนละทิศทาง
พิจารณาร่างกฎหมายการศึกษาล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่เห็นว่ากฎหมายการศึกษาเป็นวาระสำคัญ เมื่อเทียบกับการพิจารณาวาระอื่น เช่น ประเด็นด้านการพาณิชย์ การเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ส่งผลให้การพิจารณาและผ่านร่างกฎหมายการศึกษาล่าช้า โดยเฉพาะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ซึ่งแต่ละฉบับต้องใช้เวลานาน 1 - 2 ปี และยิ่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลยิ่งทำให้การพิจารณากฎหมายการศึกษาล่าช้ามากขึ้น
กฎหมายการศึกษาถือเป็นกุญแจหลักในการปฏิรูปการศึกษา ผมจึงอยากเสนอว่ารัฐบาลสมัยหน้า ควรผลักดันการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาเป็นวาระสำคัญของชาติ ดังนี้
ผลักดันกฎหมายการศึกษาที่ค้างอยู่ให้ผ่านและบังคับใช้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเผยว่ามี ร่าง พ.ร.บ. หลายฉบับ ดำเนินการใกล้เสร็จ อาทิ พ.ร.บ.การศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. hellip;. ร่าง พ.ร.บ.อาชีวศึกษา พ.ศ. hellip;. ร่าง พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. hellip;. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. hellip;. และร่าง พ.ร.บ. สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. hellip;. กำลังผลักดันสู่การพิจารณาใน สนช. และอาจบังคับใช้ในปี 2550 นี้
อย่างไรก็ตาม ยังมี ร่าง พ.ร.บ. และร่างกฎกระทรวงอีกหลายฉบับ ที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และค้างอยู่ที่สภาฯ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ. hellip;. ร่าง พ.ร.บ.การเงินเพื่อการอุดมศึกษา พ.ศ. hellip; ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินทุนเพื่อการผลิต การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. hellip;. กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษา พ.ศ. hellip;. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกระจายอำนาจและการมอบอำนาจ พ.ศ. hellip;. ฯลฯ
ผลักดันให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายการศึกษาที่มีปัญหา การแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ มิใช่เรื่องง่าย โดยใช้ระยะเวลาไม่ต่างกับการพิจารณากฎหมายฉบับใหม่ การแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการผลักดันให้ผ่านและบังคับใช้ เนื่องจากเกิดผลเชิงลบต่อสังคมไทย อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับการเรียนฟรี 12 ปี เพราะหากไม่มีกฎหมายชัดเจนเพียงพอ อาจกระทบต่องบประมาณของรัฐและไม่สามารถจัดการศึกษาได้มีคุณภาพ กฎหมายที่เกี่ยวกับการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษามีแนวทางการระดมทรัพยากรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ผลักดันกฎหมายการศึกษาใหม่รองรับกระแสโลกาภิวัตน์ รัฐบาลสมัยหน้าควรพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และนโยบายระดับรัฐและสังคมโลก อาทิ กฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันการศึกษาไทยเสียเปรียบต่างชาติและสามารถแข่งขันได้ เป็นต้น
แม้จะผลักดันร่างกฎหมายการศึกษาให้ผ่านออกมาใช้ได้แล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องคือ การกำหนดแนวทางให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของกฎหมายสู่กลุ่มผู้ปฏิบัติอย่างทั่วถึงเพื่อให้ผู้อยู่ในภาคปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง โดยใช้โอกาสและช่องทางต่าง ๆ อันจะทำให้การผลักดันและบังคับใช้กฎหมายการศึกษาประสบความสำเร็จได้
แสดงความคิดเห็น
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-10-15
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,500 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,336 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,268 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,080 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,486 ครั้ง