วิพากษ์พรบ.ค้าปลีก

ในระหว่างที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา บรรดาห้างค้าปลีกต่างชาติต่างเร่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ ผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าวเห็นได้จาก สถิติของกรมพัฒนาธุรกิจที่ระบุว่า เพียงสองเดือนแรกของปีนี้ มีผู้แจ้งจดทะเบียนขายปลีก 698 ราย แต่มีการแจ้งยกเลิกถึง 469 ราย และเมื่อย้อนกลับไป 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าการแจ้งเลิกธุรกิจขายปลีกขายส่งสูงถึงเกือบ 8 หมื่นราย จากที่เคยเปิดกิจการกว่า 3 แสนราย แต่วันนี้เหลือเพียง 1.8 แสนรายเท่านั้น

จากผลระทบดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติเร่งกระบวนการพิจารณากฎหมายค้าปลีกฯ เพื่อควบคุมค้าปลีกต่างชาติและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย แต่หลังจากที่ร่างกฎหมายนี้ปรากฏออกมากลับมีเสียงวิจารณ์ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อบกพร่องอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไข

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ
:สิ่งน่าสนใจในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การตั้งคณะกรรมการกลางกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กกค.) ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการค้าของประเทศและการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเช่น กำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งเป็นธุรกิจควบคุม กำหนดหลักเกณฑ์ขออนุญาตตั้งหรือขยายสาขา กำหนดหลักเกณฑ์ลงโทษทางปกครอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (กจค.) โดยคณะกรรมการคณะนี้มีหน้าที่หลักเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจว่า ควรจะให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่อยู่ในจังหวัดหรือไม่ โดยพิจารณาจากความจำเป็นของตลาด เศรษฐกิจ ความพึงพอใจของประชาชนและชุมชน รวมถึงการพิจารณาเปิดกิจการ สถานที่ตั้ง จำนวนและขนาดธุรกิจแต่ละท้องที่ วันเวลาและชั่วโมงการเปิด-ปิด พร้อมทั้งดูแลไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ค้าด้วย
ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ: ร่างกฎหมายฉบับนี้มีจุดบกพร่องบางมาตรา อาทิ มาตรา 7 วรรค 1 (2) ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งใน กกค. แม้ว่าผู้ว่าฯ กทม.จะมีความรู้ความสามารถ แต่การกำหนดอย่างตายตัวให้ผู้ว่าฯ กทม.เป็น กกค.เป็นองค์ประกอบที่ไม่เพียงพอ เพราะนอกจาก กกค.จะต้องกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกฯ ในกรุงเทพฯแล้ว ยังต้องกำหนดนโยบายธุรกิจค้าปลีกฯ ทั้งประเทศด้วย
ใน (4) ของมาตราเดียวกัน ระบุถึง สัดส่วนกรรมการที่เป็นผู้แทนสถาบันหรือองค์กรเอกชน 5 คน ได้แก่ ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ประกอบธุรกิจรายย่อยในชุมชนและผู้ประกอบธุรกิจรายกลางหรือรายใหญ่ และสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันละหนึ่งคน

จากมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กกค.มีตัวแทนผู้บริโภคเพียงคนเดียว แต่มีตัวแทนผู้ประกอบการถึง 4 คน จึงเป็นการยากที่การตัดสินใจของ กกค.จะสะท้อนความต้องการของผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคเป็นเสียงข้างน้อย ผมจึงเห็นว่าควรมีตัวแทนจากภาคประชาชนเพิ่มเข้าไปอีก และควรเปิดเผยเบื้องหลังของคนที่ได้รับการแต่งตั้งว่ามีที่มาอย่างไรด้วย

มาตรา 9 วรรค 1 (6) และ (7) ยังระบุถึง การมีคณะกรรมการสรรหากรุงเทพมหานคร 9 คน ทำหน้าที่สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนสถาบันหรือองค์กรเอกชน โดย 2 ใน 9 คน ต้องเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวผมไม่ได้สงสัยในคุณสมบัติของผู้แทนทั้งสองมหาวิทยาลัย แต่การระบุอย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการสรรหาต้องมาจากสองแห่งนี้เป็นการเจาะจงเกินไป และปิดกั้นโอกาสผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอื่น ๆ ทั้งประเทศ ดังนั้นผมจึงเสนอให้เปิดกว้างมากขึ้น

การพิจารณาพ.ร.บ.ค้าปลีกในมุมมองของประชาชนและผู้บริโภค
:เมื่อพิจารณาบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะข้างต้น (กกค. และ กจค.) และพิจารณาข้อบัญญัติอื่น ๆ ประกอบกัน จะเห็นว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การช่วยเหลือและให้ประโยชน์กับกลุ่มผู้ค้าปลีกค้าส่งรายย่อยเท่านั้น เช่น มาตรการจำกัดการเปิด-ปิด การจำกัดสาขาห้างค้าปลีกส่งของต่างชาติ เป็น แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ได้กำหนดมาตรการที่ให้ประโยชน์หรือให้การคุ้มครองต่อผู้บริโภคโดยตรงมากนัก

ในร่างกฎหมายฉบับนี้ กระบวนการพิจารณาของ กจค.ว่า ควรให้มีการตั้งกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ในแต่ละจังหวัดหรือไม่ ยังขาดกลไกการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ผมเห็นว่าควรกำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และการศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อชุมชน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อการจราจร เป็นต้น รวมทั้งกำหนดมาตรการตรวจสอบและป้องกันการคอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การมีร้านค้าปลีกร้านค้าสมัยใหม่ยังควรมีอยู่และไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะข้อดีของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ยังมีอยู่ไม่น้อย เช่น ผู้บริโภคจะสามารถซื้อสินค้าราคาถูก มีคุณภาพ และมีความหลากหลาย ทำให้เกิดการจ้างงานเพราะห้างค้าปลีกส่งของต่างชาติมักต้องจ้างพนักงานจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ผู้ค้าปลีกจึงต้องพัฒนาร้านค้าและบริการของตนให้ดีขึ้น ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ การขนส่ง และทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม
:ผมเห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับนี้และไม่ควรทอดระยะเวลาออกไป เพราะอาจเกิดความเสียหายจนเกินเยียวยา ทั้งนี้กฎหมายต้องวางกรอบให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการผูกขาด ไม่ใช่เน้นเฉพาะการแข่งขันที่เสรีเท่านั้น เช่น ห้ามไม่ให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน การจัดทำดัชนีชี้วัดการผูกขาดทางการค้าเพื่อเป็นเครื่องมือวัดว่ามีการผูกขาดในแต่ละพื้นที่หรือไม่ และหากพบว่ามีการผูกขาดเกิดขึ้น ผู้ผูกขาดจะต้องจ่ายค่าปรับแล้วนำเงินส่วนนี้มาชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับกระทบจากการผูกขาด พร้อมทั้งบังคับให้ลดขนาดของกิจการที่ผูกขาดให้เล็กลง เป็นต้น

ข้อเสนออีกประการหนึ่ง คือ การจัดตั้งกองทุนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบแม้การขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่บางแห่งไม่ทำให้เกิดการผูกขาด แต่การขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว อาทิ อาจทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กและกลางต้องปิดตัวลง ส่งผลให้เกิดการว่างงาน ฯลฯ ดังนั้นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าชดเชยส่วนนี้ในรูปแบบของภาษีชดเชยผู้ได้รับกระทบ เพื่อนำเงินภาษีมาจัดตั้งกองทุนชดเชยหรือช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรคำนึงถึงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ค้าปลีกรายย่อยด้วย เช่น การกำหนดมาตรการส่งเสริมร้านค้าปลีกของชุมชน การฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย การให้สิทธิพิเศษบางด้านแก่ผู้ค้าปลีกรายย่อย เป็นต้น นอกจากนี้ร่างกฎหมายค้าปลีกฯ ควรพิจารณาคู่ขนานไปกับกฎหมายฉบับอื่นด้วย ไม่ควรมองแบบแยกส่วนเพราะอาจส่งผลกระทบถึงกันได้
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์
เมื่อ: 
2007-06-20