สร้างศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยอย่างไรให้น่าสนใจ
เมื่อไม่นานมานี้ สภาวิจัยแห่งชาติได้วางยุทธศาสตร์จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัย (Center of Research Learning) ขึ้นในปี 2551 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่รวบรวมเอาผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์มาจัดแสดง รวมถึงสร้างนักวิจัยฝีมือดี ที่ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนอย่างมาก แต่ในขณะนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ โดยได้มีการจัดเวทีระดมสมองจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
หากสภาวิจัยแห่งชาติสามารถประสบความสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์ ประเทศไทยจะมีศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัย และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยนักคิด และนักประดิษฐ์ ในการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยของตนเองก่อนนำเสนอสู่ประชาชน อีกทั้ง ยังเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นเยาวชนไทยให้หันมาสนใจการเป็นนักวิจัยมากขึ้น
สำหรับคนไทย ศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศนั้นได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าวมานานแล้ว อาทิ
พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์แห่งชาติ (National Museum of Ethnology) เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับทางการวิจัยเกี่ยวกับมนุษยชาติและเผ่าพันธุ์ โดยจัดให้บริการข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้มีจัดแสดงนิทรรศการที่เป็นหัวข้อจำเพาะจากผลงานวิจัยเป็นครั้งคราว แต่สิ่งหนึ่งที่ศูนย์ฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การรับใช้และอุดหนุนสังคม โดยการถ่ายทอดผลงานวิจัยชิ้นใหม่ ๆ ให้สังคมทราบอยู่เสมอ ผ่านการจัดบรรยายสาธารณะ การจัดสัมมนา ตลอดจนฉายภาพยนตร์ ทั้งนี้ การทำงานของศูนย์จะไม่เป็นแบบเอกเทศ แต่ร่วมมือกับศูนย์การเรียนรู้อื่น ๆ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โรงเรียน และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ศูนย์การเรียนรู้ปอมปิดู (Pompidou Centre) ประเทศฝรั่งเศส
ก่อตั้งเมื่อปี 2520 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยในศูนย์ฯ จะทำการเผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมของชาติ ที่ทำการรวบรวมไว้ถึง 150,000 นวัตกรรม มีห้องสมุดสาธารณะบรรจุหนังสือ 400,000 เล่ม ผู้ใช้บริการสามารถทราบข้อมูลและเรียนรู้ผ่านระบบไร้สาย (WiFi) โดยเชื่อมโยงกับเครื่อง PDA (Personal Data Assistant) คอมพิวเตอร์แบบพกพา (Computer Notebook) นอกจากนี้ ผู้สนใจยังสามารถรับชมการนำเสนอผลงานวิจัยใหม่ ๆ และกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ในสาขาต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และสื่อโทรทัศน์ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น
ความน่าสนใจของศูนย์การเรียนรู้ปอมปิดู คือ การให้ผู้ชมเกิดความสนใจได้ด้วยตนเอง โดยการสื่อสารที่มีปฏิสัมพันธ์ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงดนตรีหรือศิลปะนานาชาติ การให้คำปรึกษาด้านวิจัย การฝึกอบรมและสัมมนาในประเด็นที่สังคมสนใจ การฉายภาพยนตร์ เป็นต้น โดยวางแผนกิจกรรมไว้ล่วงหน้าทุกเดือน
ศูนย์เรียนรู้และวิจัยกีฏวิทยา (Research - Museum of Entomology)
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 เป็นศูนย์แสดงผลงานวิจัยและพิพิธภัณฑ์ด้านแมลง อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อทำการศึกษาวิจัย รวบรวมผลงานวิจัย และถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม ภายในศูนย์ฯ ผู้เข้าชมมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์จริงของนักวิจัย เช่น บรรยากาศการวิจัยในห้องปฏิบัติการของนักวิจัย เรียนรู้เครื่องมือวิจัยต่าง ๆ ของนักวิจัย เป็นต้น นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังได้จัดห้องสมุดวิจัยรวบรวมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวบรวมผลงานวิจัยของนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังได้สร้างเครือข่าย เพื่อให้งานวิจัยมีผลต่อภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมยา ภาคการเกษตร ชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม และสถาบันการศึกษา เป็นต้น
การนำมาปรับใช้ในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์การเรียนรู้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนอยู่หลายศูนย์ เช่น ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้ TK Park เป็นต้น ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ยังมีข้อบกพร่องบางด้าน จึงทำให้ไม่สามารถรับใช้สังคมได้เต็มที่ เช่น การตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลทำให้ผู้เข้าชมมีไม่มากนัก ขาดกิจกรรมส่งเสริมที่จูงใจให้ติดตาม มีงบประมาณจำกัด และขาดการนำเสนอความรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย เป็นต้น ทำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ดังนั้น หากสภาวิจัยแห่งชาติจะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยขึ้นในปี 2551 ควรลดจุดอ่อนเหล่านี้ให้มากที่สุด ซึ่งผมขอเสนอแนวทางในการพัฒนาศูนย์การเรียนทางวิจัย โดยนำตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกามาปรับใช้ ดังนี้
เป็นศูนย์การรู้ที่มีชีวิต ควรเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในโต้ตอบกับผู้ใช้บริการ และสร้างบรรยากาศในการนำเสนอให้น่าสนใจและตื่นเต้น เช่น จัดทำสื่อมัลติมีเดีย เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกับนักวิจัยโดยตรง หรือจัดรายการวิทยุของศูนย์ฯ เป็นต้น
เป็นศูนย์เรียนรู้เชิงปฏิสัมพันธ์โดยใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือดึงความสนใจจากคนกลุ่มต่าง ๆ อาทิ
กลุ่มเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางสติปัญญา โดยนำผลงานวิจัยในด้านต่าง ๆ มานำ หรือมีการประกวดผลงานวิจัย
กลุ่มนักวิจัยนักประดิษฐ์และปราชญ์ท้องถิ่น จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางด้านระเบียบวิธีวิจัย การให้ความรู้และแก้ไขปัญหาด้านสิทธิบัตร การพัฒนางานวิจัยให้เป็นมาตรฐาน และสามารถต่อยอดได้
กลุ่มภาคเอกชนและนักธุรกิจ จัดการแสดงผลการวิจัยนำงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ในภาคธุรกิจต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงจัดให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นักวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญ
ที่สำคัญศูนย์ฯ ควรสร้างเครือข่ายระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานั้น เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยอาจมีฐานข้อมูลกลางที่จัดแบ่งประเภทผลงานวิจัยสำหรับแต่ละกลุ่มคน เพื่อการค้นคว้าและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สร้างความมั่นคงทางด้านการวิจัย เพื่อให้อาชีพนักวิจัยเป็นที่ยอมรับ ทั้งในสถานภาพและมาตรฐาน ดังนั้น ศูนย์ฯ ควรเป็นแหล่งที่สามารถยกระดับนักวิจัยให้มีคุณภาพ อาทิ
เป็นศูนย์พัฒนา โดยการจัดอบรม ประชุม สัมมนาในกลุ่มนักวิจัย และจัดสรรเงินทุนวิจัยแก่ผู้ที่สนใจเป็นศูนย์รับรองมาตรฐาน โดยการออกใบรับรองนักวิจัยให้น่าเชื่อถือโดยคำนึงคุณภาพเป็นหลัก
เป็นศูนย์ช่วยเหลือ โดยเปิดให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่นักวิจัย
นอกจากนี้ควรดึงนักวิจัยนอกระบบเข้าสู่ระบบ เช่น ปราชญ์ท้องถิ่น นักวิจัยอิสระ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลแก่ผู้สนใจ และเพื่อให้นักวิจัยเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้ารับการพัฒนา
เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ทันเหตุการณ์ โดยจับประเด็นที่เป็นที่เป็นที่สนใจของสังคม และนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เช่น ภาวะโลกร้อน ปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำงานวิจัยมาเป็นคำตอบให้แก่สังคมได้
เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สะดวกและครบครัน ควรเป็นศูนย์ที่สะดวกในการเดินทางเข้าเยี่ยมชม ใกล้แหล่งชุมชน มีเทคโนโลยีสื่อสารและสนับสนุนการสืบค้นที่พอเพียง เช่น มีสื่อเรียนรู้ออนไลน์ ที่สามารถศึกษาได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้แก่ผู้ที่อยู่ห่างไกล
ศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยเป็นมิติใหม่ของพัฒนาและยกระดับงานวิจัยของประเทศไทย จึงไม่ควรเป็นเพียงศูนย์ที่รวบรวมและนำผลการวิจัย แต่ควรเป็นศูนย์ที่นำคนในสังคมให้เห็นความสำคัญต่อการวิจัย ให้เห็นว่างานวิจัยมิใช่เรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องของผู้ที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อให้วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จ นั่นคือ การเป็นแหล่งเรียนรู้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และสร้างนักวิจัยมือดีให้เกิดขึ้น
Tags:
เผยแพร่:
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ:
2007-06-28