นายกที่พึงประสงค์ของไทย : เก่งและมีคุณธรรม
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา สำนักเอแบค โพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตั้งคำถามว่า ldquo;หากสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครมาเป็นนายกฯ โดยที่ไม่ปิดกั้นว่าผู้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ประชาชนต้องการใครเข้ามาเป็นนายกฯrdquo; ผลสำรวจที่ได้ คือ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นคนที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เลือกสูงถึงร้อยละ 34.5
จากผลสำรวจของเอแบค โพลล์ มีคำถามที่น่าสนใจ คือ เหตุใดประชาชนจึงต้องการให้คุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นนายกฯ มากกว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเคยมีคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจากการสำรวจความเห็น เนื่องด้วยความสามารถโดดเด่นในการบริหารเศรษฐกิจ ผมคิดว่ามาจากปัจจัย 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 ประชาชนต้องการคนที่มีคุณธรรมเข้ามาเป็นนายกฯ คุณปุระชัยเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะเป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์ขาวสะอาด ไม่โกงกิน ทำงานจริงจัง เป็นคนตรง และไม่ยอมให้กับความไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายจัดระเบียบสังคม ที่ได้ผลักดันและตรวจตราสถานบันเทิงอย่างเข้มงวด ยืนหยัดต่อความถูกต้อง และบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา จนได้ชื่อว่า ldquo;มือปราบสายเดี่ยวrdquo;
ประการที่ 2 ประชาชนต้องการนายกฯ ที่ไม่ถูกครอบงำจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่คุณปุระชัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เกิดความขัดแย้งกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นน้องเขยของนายกฯ ในกรณีที่คุณปุระชัยตัดงบประมาณที่เสนอโดยฝ่ายข้าราชการประจำ จาก 2,007 ล้านบาทเหลือ 900 ล้านบาท เนื่องจากความผิดปกติในการตั้งงบจ้างที่ปรึกษาวางระบบงานสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จำนวน 1 คน เป็นเงินสูงถึง 27 ล้านบาท และงบเดินทางไปดูงานต่างประเทศของข้าราชการ 3 คนเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คุณปุระชัยหลุดจากตำแหน่ง และได้ลาออกจากพรรคในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถครอบงำคุณปุระชัยได้
ปัจจัยทั้ง 2 ประการสะท้อนให้เห็นว่า ณ เวลานี้ ประชาชนให้ความสำคัญปัจจัยด้านคุณธรรม มากกว่าความสามารถ (ในเชิงเศรษฐกิจ) เพราะต้องการคนเข้ามาปฏิรูปการเมืองของไทยให้อยู่บนพื้นฐานจริยธรรมที่ถูกต้อง และไม่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณปุระชัยไม่ใช่คนเก่งและคุณสมคิดไม่ใช่คนดี แต่ทั้งสองท่านมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน)
อย่างไรก็ตาม ลักษณะนายกฯ ที่คนไทยต้องการมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เช่น ในปี 2544 ประชาชนต้องการผู้นำที่มีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนจึงเลือกคุณทักษิณเป็นนายกฯ เพราะเป็นคนที่มีความสามารถในการบริหารและเคยประสบความสำเร็จในธุรกิจ โดยไม่สนใจปัญหาด้านจริยธรรมของคุณทักษิณซึ่งติดคดีซุกหุ้นอยู่
แต่วิกฤตการเมืองในขณะนี้เกิดจากปัญหาคุณธรรมจริยธรรมของผู้นำ กระแสความต้องการนายกฯ จึงเหวี่ยงกลับไปสู่ความต้องการคนดี โดยที่ความสามารถด้านการบริหารเศรษฐกิจได้รับความสำคัญน้อยกว่า ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับยุครัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหวรรณ ที่มีข้อครหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันมาก ประชาชนจึงถวิลหารัฐบาลที่มือสะอาด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความต้องการของประชาชนกลับเปลี่ยนไปต้องการคนเก่งแต่ละเลยปัจจัยทางคุณธรรมอีกครั้ง
ผมจึงเห็นว่า คนไทยควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ในการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์ เพื่อผลักดันให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ต้องชูผู้นำพรรคที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกผู้นำที่พึงประสงค์มาปกครองประเทศ