การเมืองภาคประชาชนเชิงรุก

จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของประชาชนที่มีความตื่นตัวในการเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองเพิ่มขึ้น และเป็นการสะท้อนความเจริญเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศ

หากพิจารณาจากกระแสที่ประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีสาธารณะเพื่ออภิปราย แสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำตามข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นความเดือนร้อนของกลุ่มตน เช่น ม็อบเกษตรกร ม็อบกู้ชาติ โดยพบว่า การตอบสนองของรัฐบาลมักเป็นไปในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน หรือเป็นการลดกระแสการต่อต้านที่สืบเนื่องจากการชุมนุมนั้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมักเกิดจากการที่ประชาชนได้รับผลกระทบจาการดำเนินงานของรัฐบาล จึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ แสดงความคิดเห็นของตนเพื่อให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินนโยบาย มากกว่าการที่ประชาชนจะเป็นผู้นำเสนอนโยบายที่สอดรับกับความต้องการของตน และให้รัฐบาลเป็นผู้นำไปจัดทำเป็นนโยบาย

ด้วยเหตุนี้ผมเห็นว่า การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ประชาชนควรเข้ามามีบทบาทในฐานะเป็นผู้ริเริ่ม ในทัศนะของผมคือ หากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองตั้งแต่ต้น จะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจในสภาพปัญหาหรือความต้องการของประชาชนที่แท้จริง แตกต่างจากการที่ประชาชนมาเรียกร้องหรือเสนอแนะแนวทางภายหลัง โดยการรวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้อง โดยหากเป็นกรณีของม็อบนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการแสดงพลังของภาคประชาชนในรูปแบบหนึ่ง หากแต่ในกรณีที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งแล้ว อาจเป็นการสะท้อนถึงการบริหารงานที่ไม่มีคุณภาพของรัฐบาล โดยสิ่งที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาจึงเสมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ด้วยเหตุนี้ ผมขอเสนอว่า ประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชน เช่น NGO สถานศึกษา ประชาสังคม องค์กรวิชาชีพ เป็นต้น ควรเป็นผู้ริเริ่มนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย หรือเสนอแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมในจุดที่รัฐบาลอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ ซึ่งไม่ต้องรอให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน โดยการสื่อสารไปถึงผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง หรือพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบโดยตรง ผ่านทางจดหมาย อีเมล์ หรือวิธีการอื่น เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยที่นักการเมืองเหล่านั้นสามารถนำข้อเสนอไปคิดหามาตรการเพื่อช่วยเหลือ หรือป้องกันปัญหาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง

ผมเห็นว่าการที่ประชาชนมีบทบาทริเริ่มเชิงนโยบาย จะทำให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเปิดช่องทางเพื่อให้มิตรสหายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ หรือ นโยบายต่าง ๆ โดยสามารถส่งถึงผมได้โดยผ่านทาง E-letter นี้ครับ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-05-25