?ผู้ประกอบการเพื่อสังคม? สะท้อนคิดจากปาฐกถาของ Bill Gates ที่มหาวิทยาลัย Harvard
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา บิล เกตส์ (Bill Gates) เจ้าของบริษัทไมโครซอร์ฟ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัย Harvard ให้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ จนเป็นข่าวเกรียวกราวทั่วอเมริกา ส่วนหนึ่งเพราะเกตส์เคยเรียนที่ Harvard แต่ได้ลาออกก่อนสำเร็จการศึกษา เพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจคอมพิวเตอร์จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ปริญญานี้จึงถือเป็นปริญญาใบแรกที่เขาได้รับ โดยมีผมเป็นสักขีพยานร่วมกับคณาจารย์ และผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนนับพัน ๆ คนที่ร่วมในงานวันนั้น
หลังจากได้รับมอบปริญญาบัตรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้เชิญให้ บิล เกตส์ กล่าวปาฐกถาให้ข้อคิดแก่บัณฑิตที่จบใหม่ ใจความสำคัญในถ้อยคำของเขาคือ การปลุกให้ผู้ฟังหันมาเอาใจใส่และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมมากขึ้น โดยอาศัยศักยภาพ ความสามารถ และเวลาที่มีอยู่ ทั้งนี้ บิล เกตส์เองได้แสดงความตั้งใจของเขาอย่างชัดเจนในการอุทิศตัวและเวลาเพื่อร่วมแก้ปัญหาของสังคมนับแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยเขาจะถอนตัวจากธุรกิจอย่างสมบูรณ์และหันมาทำงานเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบผ่านมูลนิธิที่เขาตั้งขึ้น
มีข้อคิดหลายอย่างที่น่าสนใจจากสิ่งที่ บิล เกตส์ กล่าวในวันนั้น และผมขอสะท้อนคิดเพิ่มเติมบางประการ
ปัญหาความไม่เท่าเทียมและปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ ไม่ยากเกินที่เราจะร่วมแก้ไข แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าปัญหาเศรษฐกิจสังคม ความไม่เท่าเทียมกันในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น และรุนแรงขึ้น หากแต่ บิล เกตส์ ได้สะท้อนการมองโลกในแง่ดีต่อปัญหาในสังคมว่า หากเราสามารถมองข้ามความจำกัดหรือความซับซ้อนของปัญหา และพยายามตั้งเป้าหมาย หาทางออกที่เหมาะสมที่สุดโดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ เทคโนโลยีที่เรามีอยู่ให้มากที่สุด และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน จะสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในภาพรวมได้
สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีวิธีทำให้กิจกรรมที่ทำเป็นไปในลักษณะของต่างฝ่ายได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อจูงใจกลุ่มคนต่าง ๆ เข้าร่วม กล่าวคือ ในขณะที่คนยากจน คนด้อยโอกาส ได้รับโอกาสและการตอบสนองความต้องการ ส่วนผู้ที่ให้ความช่วยเหลือก็ได้รับประโยชน์ในสิ่งที่เขาต้องการเช่นกัน เช่น องค์กรธุรกิจได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจ นักการเมืองได้ช่วยแก้ปัญหาประชาชนในพื้นที่ของเขา และหากต้องการจูงใจให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ต้องสามารถทำให้เขามีความรู้สึกร่วม และเห็นถึงอิทธิพลหรือผลกระทบเชิงสร้างสรรค์ของสิ่งที่เขาทำต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์
ปัญหาความไม่เท่าเทียมและปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ สามารถแก้ไขหากเราเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ตอนหนึ่งในปาฐกถา บิล เกตส์ได้กล่าวว่า ldquo;สิ่งที่เป็นความท้าทายของเขาและภรรยาคือ จะมีวิธีการที่ดีที่สุดวิธีการใดที่เขาจะสามารถให้ความช่วยเหลือคนจำนวนมากที่สุดภายใต้เงื่อนไขตามทรัพยากรที่เขามีอยู่rdquo; โดยเขาได้เฉลยว่า นวัตกรรมใหม่ ๆ จำนวนมากที่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเอื้อให้คนรวมตัวและประสานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งได้ง่ายขึ้น อำนวยความสะดวกทำให้คนที่อยู่ต่างที่ แต่สนใจในปัญหาที่คล้ายคลึงกัน สามารถมาพบปะ แลกเปลี่ยน และช่วยเหลือกันโดยไม่ถูกเงื่อนไขเรื่องความแตกต่างด้านสถานที่อีกต่อไป ผลที่เกิดขึ้นคือ ความร่วมมือเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมอันเกิดจากคนสามัญธรรมดา เขาเชื่อว่าเราทุกคนสามารถจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงทำให้โลกนี้ดีขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น
สะท้อนกลับมาสู่ประเทศไทย คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลหรือส่วนราชการที่มีจุดแข็งในแง่ของเครือข่าย ทรัพยากรบุคลากรจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่ต่อเนื่อง หากแต่หน่วยงานเหล่านั้นยังคงมีข้อจำกัด เช่น ยังประสบปัญหาการขาดความคล่องตัวในการดำเนินการด้วยข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบ การขาดความต่อเนื่องในนโยบายเนื่องจากเสถียรภาพของรัฐบาล และการเน้นแก้ปัญหาในจุดที่มีผลต่อฐานคะแนนเสียงและประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสังคม
ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา เราพบว่ามีธุรกิจจำนวนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคมมากขึ้น โดยในส่วนของภาคธุรกิจเองมีจุดแข็งในแง่ของความคล่องตัวในการดำเนินการ การปรับเปลี่ยนตัวที่รวดเร็ว การมีทรัพยากรที่ต่อเนื่องตามผลประกอบการขององค์กร ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แต่ขณะเดียวกัน หากจะหวังให้ภาคธุรกิจทำหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม ข้อจำกัดที่สำคัญของภาคธุรกิจก็คือเป้าหมายของธุรกิจทั่วไปจะอยู่ที่ความอยู่รอดทางธุรกิจ มากกว่าการมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างเจาะจง
ท่ามกลางข้อจำกัดที่เห็นอยู่นี้ เราพบการขยายตัวของอีกภาคส่วนหนึ่งของสังคมที่เรียกว่า ldquo;ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneurs)rdquo; คนกลุ่มนี้คือคนธรรมดาสามัญที่ บิล เกตส์กล่าวถึง คนธรรมดาสามัญที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ คนเหล่านี้มาจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ ทนายความ วิศวกร ครู ผู้สื่อข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักสังคมสงเคราะห์ ข้าราชการ ฯลฯ คนเหล่านี้มีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันคือ เป็นกลุ่มคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเจาะจง สามารถค้นพบและสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการหรือลดทอนผลสืบเนื่องเชิงลบของปัญหานั้น รวมทั้งสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ส่งผลกระทบกว้างขวางและสามารถแก้ปัญหาได้จริง สามารถระดมทรัพยากรเพื่อก่อร่างสร้างองค์กรที่จัดการปัญหานั้นอย่างต่อเนื่อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คนเหล่านี้ได้ดำเนินวิสาหกิจ (enterprise) ที่มีเป้าหมายเพื่อการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีในสังคม ผู้ประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นส่วนผสมขององค์ประกอบความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคม และความมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน
เป็นที่น่าเสียดายว่า คนเหล่านี้ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้มีบทบาทในการเข้ามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมไทยเท่าที่ควร ผมคิดว่า หากมีการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากขึ้น และพัฒนาคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ สังคมไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการที่คนกลุ่มนี้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ภาครัฐเอื้อไปไม่ถึง และภาคธุรกิจไม่สนใจจะช่วยเหลือ
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-06-29
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 115 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 83 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 200 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 166 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 145 ครั้ง