ควรกำหนดนโยบายราคาข้าวอย่างไร

คณะกรรมการประเมินการดำเนินงานตามโครงการจำนำข้าวเปลือก ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอให้ใช้ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแทนระบบรับจำนำข้าว ภายในระยะเวลา 2-5 ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

หลายฝ่ายเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่ถูกบิดเบือนโดยการกำหนดราคารับจำนำที่สูงเกินจริง การบิดเบือนกลไกตลาดทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณอุดหนุนราคาข้าวจำนวนมาก และยังมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งยังสร้างปัญหาต่อเนื่องแก่ผู้ส่งออกข้าวที่ต้องตั้งราคาขายสูงเกินจริงทำให้ขายในตลาดต่างประเทศได้ยาก

ประเทศไทยควรกำหนดเป้าหมายนโยบายราคาข้าวอย่างไร

โดยปกติ เป้าหมายของการกำหนดนโยบายราคาข้าวนั้น อาจจำแนกได้เป็น
3 เป้าหมายหลัก ประการแรก คือ การสร้างประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ ประการต่อมา การยกระดับรายได้ของเกษตรกร และประการสุดท้าย การสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ


สำหรับระบบจำนำข้าวถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของราคาข้าว เนื่องจากข้าวมีราคาต่ำในช่วงที่มีผลผลิตข้าวออกมามาก แต่มีราคาสูงขึ้นในช่วงที่มีผลผลิตออกมาน้อย เกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาจำนำไว้ก่อน ในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ แล้วจึงไถ่ถอนข้าวไปขายในช่วงที่ราคาสูงขึ้น แต่ปัญหาของระบบนี้คือไม่สามารถกำหนดราคารับจำนำข้าวได้อย่างเหมาะสม หรือการที่นักการเมืองใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวสูงเกินกว่าราคาตลาด การจำนำข้าวในปัจจุบันจึงตอบสนองเป้าหมายการยกระดับรายได้ของเกษตรกร แต่กลับไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ

การหันมาใช้ระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นการประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาข้าวได้เช่นเดียวกับการจำนำข้าว และยังมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบรับจำนำข้าว เพราะเป็นการกำหนดราคาซื้อขายข้าวด้วยกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ แต่กลับไม่ช่วยในการยกระดับรายได้เกษตรกร เพราะเกษตรกรยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และไม่สามารถเข้าถึงตลาดดังกล่าวได้

นอกจากนี้ แม้ว่ากลไกตลาดจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ เพราะกลไกตลาดจะทำให้ผู้ผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพต้องเลิกการผลิต แล้วหันไปผลิตสินค้าอื่นที่ตนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงกว่าการทำนา แต่กระนั้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ดุลยภาพใหม่ หรือการปรับตัวไปผลิตสินค้าอื่นที่มีผลิตภาพมากกว่า อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นกลไกตลาดอาจทำให้เกษตรกรที่ไม่มีประสิทธิภาพประสบกับความยากลำบากในช่วงเวลาแห่งการปรับตัว

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองระบบดังกล่าวไม่ได้รับประกันว่าประเทศจะมีความมั่นคงทางอาหาร เพราะการอุดหนุนราคาข้าวจะยิ่งทำให้ภาคการเกษตรอ่อนแอ ขณะที่กลไกตลาดอาจทำให้ประเทศไทยขาดความมั่นคงทางอาหาร หากภาคเกษตรของไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

เร่งสร้างผลิตภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิต ยกระดับรายได้ และ พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน

ผมเห็นว่า การเปลี่ยนมาใช้ระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นแนวทางที่ดี แต่อาจไม่เพียงพอสำหรับการตอบสนองเป้าหมายทั้ง 3 ประการข้างต้น แต่ควรดำเนินการร่วมกับการสร้างผลิตภาพ (productivity) ในการผลิตข้าว ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สามารถตอบเป้าหมายต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน เพราะผลิตภาพที่สูงขึ้นจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตมากขึ้นและมีรายได้ที่สูงขึ้น และทำให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย

นโยบายสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพ คือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดเป้าหมายและจัดตั้งหน่วยงานจัดการน้ำในภาพรวม เพื่อจัดหาน้ำ จัดการผลประโยชน์ของการใช้น้ำ และพัฒนาระบบการจัดสรรทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบชลประทาน เนื่องจากการทำนาในหลายพื้นที่พึ่งพาน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ทำให้ผลผลิตต่ำ ยืนยันได้จากข้าวนาปีมีผลผลิตต่อไร่เพียง 322 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ข้าวนาปรังซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน ผลิตได้ถึง 685 กิโลกรัมต่อไร่

อีกนโยบายหนึ่ง คือ การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการเก็บรักษาและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตข้าว แนวทางหนึ่งที่เกษตรกรจะสามารถลงทุนหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ คือ การทำให้เป็นฟาร์มที่ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร (farm mechanization) ซึ่งต้องทำให้เกษตรกรรวมตัวกันให้มีการผลิตที่มีขนาดใหญ่ เช่น การจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจชุมชน การรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็ง การจัดตั้งระบบออมเงินในชุมชน การร่วมลงทุนกับภาคธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองมากขึ้นด้วย

มาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า

ภาครัฐควรมีมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกรมีเวลาในการปรับตัว อาทิ การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า การพัฒนาระบบสารสนเทศที่เหมาะสมกับเกษตรกร เพื่อส่งสัญญาณให้เกษตรทราบทิศทางของการผลิตและราคาสินค้าล่วงหน้า และเป็นช่องทางในการเข้าถึงบริการของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วย

มาตรการสำคัญคือ การส่งเสริมการปรับโครงสร้างการผลิตและแรงงาน เนื่องจากการปล่อยให้กลไกตลาดกำหนดราคาข้าว จะส่งผลทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งอาจประสบปัญหาขาดทุน ภาครัฐจึงควรช่วยเหลือในการปรับตัวไปผลิตสินค้าชนิดอื่น หรือย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตร ที่ทำให้แรงงานเหล่านั้นมีผลิตภาพสูงกว่าการทำนา

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรวางแผนระดับชาติ และเตรียมความพร้อมและความแข็งแกร่งในการผลิตอาหารของประเทศ เพื่อรองรับวิกฤตการขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากไม่มีการเตรียมความพร้อม ประเทศไทยอาจจะผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศในยามที่เกิดวิกฤตได้

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-05-03