แบบอย่างผู้ประกอบการเพื่อสังคม
ldquo;สันติภาพที่ยั่งยืนจะบังเกิดขึ้นไม่ได้ หากประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพยากไร้ การให้สินเชื่อรายย่อยจึงเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนrdquo;
ข้อความข้างต้น ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2006 จากการก่อตั้งธนาคารกรามีน เพื่อปล่อยกู้แก่คนยากจน ได้กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับโทรทัศน์ของนอรเวย์ ภายหลังได้รับรางวัลนี้
คำกล่าวนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็น จิตใจอันงดงามและความตั้งใจอันแน่วแน่ ในการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้อย่างเปี่ยมด้วยอุดมการณ์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงส่วนหนึ่งของแนวคิดหนึ่งที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน นั่นคือ แนวคิดผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur)
ผู้ประกอบการเพื่อสังคม นับเป็นบุคคลผู้มีใจปรารถนาแก้ปัญหาสังคม โดยนำผลประกอบการมาแก้ไขปัญหาที่ต้องการ ปัจจุบัน การประกอบการเพื่อสังคม นับเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งเดิมนั้นมักจะแยกส่วนกันระหว่าง นักพัฒนาสังคม หรือ เอ็นจีโอ ที่ต้องขอเงินสนับสนุนเพื่อเป็นทุนในการแก้ปัญหาสังคม กับ ผู้ประกอบการ ที่ส่วนใหญ่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อตอบสนองความมั่งคั่งแห่งตน อาจช่วยเหลือสังคมบ้างแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก
หากประเทศใดก็ตามสามารถพัฒนา ผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นได้จำนวนมาก ย่อมช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ในสังคมลงได้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
ดร.ยูนุส จึงเรียกได้ว่าเป็น ldquo;ต้นแบบrdquo; ของผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งเราสมควรเรียนรู้และเลียนแบบ หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีจิตสาธารณะ มีหัวใจปรารถนาเยียวยาปัญหาบางมุมบางด้านในสังคม และไม่ได้มุ่งหวังเป็นผู้ประกอบการเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเท่านั้น
จากการศึกษาประวัติชีวิตของ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส ทำให้ทราบคำตอบว่า บุคคลที่จะเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นควรมีลักษณะเช่นไร และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากเราได้เรียนรู้ร่วมกัน
มีภาระใจแรงกล้า ปรารถนาช่วยเหลือ
ดร.ยุนุส จัดเป็นคนส่วนน้อยในบังกลาเทศ ซึ่งคนส่วนใหญ่นั้นยากจน เขาเกิดในครอบครัวที่อยู่ในขั้นร่ำรวย พ่อเป็นช่างทองที่มีรายได้ดี และมีแม่ เป็นแรงบันดาลใจให้เห็นคุณค่าของการเอาใจใส่และช่วยเหลือคนยากจน พฤติกรรมการทำทาน ทำการกุศลเป็นนิจศีลของผู้เป็นมารดาได้หยั่งรากลึกลงไปในจิตใจของเขา ทำให้เขารู้สึกอยู่เสมอว่ามีภาระต้องทำอะไรให้กับคนยากจน ตั้งแต่เล็กจนโต กลายเป็นภาระใจที่มีผลต่อการกำหนดเป้าหมายการดำเนินชีวิตอนาคต
ผมได้ค้นพบว่า การที่คนหนึ่งคนใดจะเติบโตขึ้นมาเป็นเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับ ldquo;ลักษณะชีวิตภายในrdquo; ที่ได้รับการวางรากฐานมาอย่างไร ชีวิตของ ดร.ยูนุส ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อได้รับทุนฟุลไบรต์ไปศึกษาที่สหรัฐ เขาเลือกศึกษาวิชา เศรษฐศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษา จึงกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชา เศรษฐศาสตร์ชนบท ที่มหาวิทยาลัยจิตตะกอง และได้ค้นพบความจริงประการหนึ่งว่า วิธีการของทุนนิยมนั้น หากนำมาใช้อย่างเหมาะสม จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แก้ปัญหาด้วยการเป็นผู้ประกอบการ
ดร.ยุนุส มีหลักปรัชญาในการช่วยเหลือคนจน โดยมิใช่ช่วยแบบการบริจาคทาน แต่ต้องช่วยคนจนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองให้ได้ และเขาได้ดำเนินตามหลักปรัชญานี้จนประสบความสำเร็จ
ในปี 1974 บังกลาเทศเผชิญทุพภิกภัยครั้งใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคน ผู้คนยากจนจำนวนมากต้องอยู่อย่างแร้นแค้น เขาได้ออกสำรวจศึกษาความเป็นจริงในชนบทตามโครงการของมหาวิทยาลัย และพบว่า พวกผู้หญิงในพื้นที่แถบนั้นต้องอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว จากการกู้หนี้นอกระบบ เพื่อมาเป็นทุนทำมาหากิน ซึ่งไม่มีสถาบันการเงินในระบบแห่งใดยอมปล่อยกู้ให้ เพราะเกรงว่าจะเป็นหนี้สูญ
เริ่มต้น เขาได้เข้าไปช่วยเหลือโดยให้เงินลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยแก่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง และปรากฏว่าลูกหนี้ทั้งหมดได้นำเงินมาชำระครบถ้วน ต่อมาได้พัฒนาเป็นการก่อตั้งธนาคารกรามีน ในปี 1976 ซึ่งเป็นธนาคารรูปแบบใหม่ เพื่อปล่อยกู้แก่คนยากจนที่สุดในบังกลาเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง เพื่อให้สามารถเริ่มธุรกิจขนาดจิ๋วได้ โดยไม่เรียกร้องอะไรมาค้ำประกันสินเชื่อ
ดร.ยูนุส นับเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากจนซึ่งยังไม่มีใครทำมาก่อน สิ่งที่เขาทำนั้นทำให้เขากลายเป็นผู้บุกเบิก ไมโครเครดิต หรือ สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายจิ๋ว
แม้ว่า ปัจจุบันระบบนี้ถูกลอกเลียนแบบไปใช้กว่า 100 ประเทศ แต่ผมคิดว่า อีกส่วนหนึ่งที่เราควรลอกเลียนแบบ คือ การสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้มากขึ้นในบ้านเรา เพราะเป็นทางออกที่สำคัญทางหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นที่ ใจของเราทุกคนที่ปรารถนาเห็นปัญหาสังคมของเราบางมุมบางด้านได้รับการแก้ไข และเข้าไปมีส่วนช่วยในฐานะผู้ประกอบการ เพื่อให้ปัญหานั้นแก้ไขได้อย่างยั่งยืน
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
Hi-Class V.257 2007
เมื่อ:
2007-10-01
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 118 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 84 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 202 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 166 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 148 ครั้ง