คิดอย่างไรจึงเอื้อเป็นครูนักเรียนรู้

ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา สภาการศึกษา

ldquo;ครูrdquo; เป็นผู้ที่มีส่วนองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการหัวใจของการจัดเตรียมผู้เรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณลักษณะเหมาะสมเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ครูจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง ที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศ ทั้งนี้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับในการเรียนการสอนของตน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจสภาวการณ์ต่าง ๆ และสามารถปรับตัวได้อย่างดี

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเป็น ldquo;ครูผู้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิตrdquo; อยู่ที่การมีโลกทัศน์ความคิดหรือทัศนคติที่เหมาะสม เอื้อต่อการพัฒนาตนเองสู่การเป็นนักเรียนรู้ เนื่องจากทัศนคติเป็นตัวกำหนดอุปนิสัย ซึ่งอุปนิสัยจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคล โดยหมายถึงการมีทัศนคติต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดคือการให้คุณค่ากับสิ่งนั้น ซึ่งอาจเป็นไปในเชิงการยอมรับหรือปฏิเสธ ชอบหรือไม่ชอบ คิดว่าดีหรือไม่ดี เป็นต้น ในเบื้องต้น ครูจึงควรได้ทบทวนและประเมินว่า ตนเองมีทัศนคติใดบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวอย่างทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง อาทิ

คิดว่าตนเองรู้มากพอแล้ว ครูที่คิดว่าตนเองมีความรู้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว มักจะไม่สนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติมอีก ไม่สนใจติดตามวิทยาการความรู้ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจแสดงออกเป็นการไม่สนใจอ่านหนังสือ วารสารวิชาการ หรือติดตามข้อมูลความรู้ใหม่ทางสื่อต่าง ๆ ในสาขาที่ตนเองสอนอยู่ หรือยังคงสอนในสิ่งที่วกวนอยู่กับเนื้อหาความรู้เดิม ซึ่งไม่ทันสมัยและไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันได้

คิดว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่สำคัญ ครูจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้น้อยกว่าเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ หรือความเป็นอยู่ของตน จึงไม่จัดสรรเวลาสำหรับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งอาจแสดงออก เช่นในกรณีที่มีโอกาสได้รับคัดเลือกไปอบรมเพิ่มความรู้ แต่ครูส่วนหนึ่งกลับไปร่วมอบรมเพียงเป็นพิธีโดยขาดความตั้งใจไปศึกษาอย่างแท้จริง

คิดว่าเป็นครูมานานจนเชี่ยวชาญแล้ว ครูที่มีอาวุโสในหน้าที่การงานมากบางท่าน อาจมีความคิดว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญมากแล้ว จึงมีความคิดว่าไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก
คิดว่าตนเองขาดความสามารถในการเรียนรู้ ครูบางท่านอาจมีความคิดว่า วิชาความรู้ต่าง ๆ มีความก้าวหน้าเร็วจนตนเองไม่สามารถเรียนรู้ได้ทัน หรือเนื้อหาบางเรื่องมีความยุ่งยากซับซ้อนจนเกินกว่าที่ตนเองจะเข้าใจได้ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มเติม ส่งผลทำให้ครูบางท่านอาจหวั่นวิตกกับมาตรฐานใหม่ และรู้สึกท้อถอยใจจนไม่อยากพัฒนาตนเองต่อ

ทัศนคติเหล่านี้จำเป็นต้องถูกแทนที่ด้วยทัศนคติใหม่ ความคิดใหม่ ซึ่งถ้าเพียงแต่ครูจะยินดีปรับทัศนคติของตนใหม่ การพัฒนาตนเองสู่ผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิตจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยทัศนคติที่ครูควรมีเพื่อทำให้ตนเองเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ

คิดว่าการเรียนรู้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในอนาคต มองว่าการเรียนรู้เป็นการลงทุนซึ่งให้ผลตอบแทนในอนาคต ต่างกับการใช้จ่ายเพื่อซื้อหาสิ่งของมาใช้ที่นับวันจะเสื่อมราคาหรือใช้หมดสิ้นไป แต่ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่สูญหายเพราะฝังอยู่ในตัวเรา และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลงอกเงยเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น หากครูมีมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเรียนรู้ ครูย่อมจะเริ่มต้นวางแผนการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยยินดีเสียสละเวลา เงินทองเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ และพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น จัดสรรเงินซื้อหนังสือที่ให้ความรู้ จัดสรรเวลาเข้าศึกษาหลักสูตรฝึกอบรมในเรื่องที่มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ เป็นต้น

คิดว่าการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายจากสิ่งรอบตัว การเรียนรู้สามารถเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ที่เราทำได้อย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวันของเราได้ เช่น การอ่าน การฟัง การถาม การสังเกต ไปจนถึงการเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น แม้ครูบางท่านอาจไม่มีความพร้อมในการศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น แต่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นได้ เช่น หาโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนครู ติดตามข่าวสารข้อมูลที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านสื่อต่าง ๆ การจัดเวลาสำหรับการอ่านหนังสือส่วนตัวเป็นประจำ ฯลฯ และมีวิธีการอีกมากมายที่ครูสามารถนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้ได้
คิดว่าการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญของวิชาชีพครู

เมื่อวิชาชีพครู คือ วิชาชีพที่มีภารกิจโดยตรงในการถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคม การเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญหลักที่ทำให้ครูได้รับความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ อันเป็นการเพิ่มทักษะความสามารถในการทำหน้าที่การสอน และสร้างผู้เรียนให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ เมื่อครูมีความตระหนักในจุดนี้ จะส่งผลทำให้ครูเกิดแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อ

ในบางกรณี การเรียนรู้ของครูสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หากมีอิทธิพลของกลุ่มมาช่วยสนับสนุน โดยครูต้องนำตนเองไปอยู่ในชุมชนของผู้ใฝ่รู้ กล่าวคือ การที่ครูผู้มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกันเข้ามารวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม สามารถช่วยให้ครูแต่ละคนเพิ่มพูนความรู้ซึ่งกันและกันได้ อาทิ การรวมกลุ่มกันเป็นชมรม หรือกลุ่มครูที่สนใจศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยกัน หากครูพาตนเองเข้าไปอยู่ในชุมชนลักษณะนี้ ครูเองจะมีโอกาสได้รับการเปิดโลกทัศน์ความรู้ให้กว้างออกไป

การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญสำหรับคนในวิชาชีพครู เนื่องจากครูมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้โดยตรง ครูจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากกว่าวิชาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ครูจึงต้องตื่นตัวในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม

admin
เผยแพร่: 
ปริทัศน์การศึกษาไทย
เมื่อ: 
2007-07-01