สร้างกระบวนการเรียนรู้กฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง
ณ เวลานี้ ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งเอกสารทางการเมืองฉบับนี้ได้แจกจ่ายให้กับทุกครัวเรือนในประเทศไทยเพื่อทำการศึกษาก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติ
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับความจริงว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเขาอย่างไร
รัฐธรรมนูญ 2550 จึงไม่ควรจบลงหลังผลการออกเสียงประชามติ ldquo;เห็นชอบrdquo; แต่ควรเริ่มต้นอย่างจริงจัง ในการให้การศึกษา เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมธรรมนูญ โดยตั้งเป้าว่า จะต้องทำให้ประชาชนชาวไทย lsquo;ทุกคนrsquo; เข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง ไม่เป็นเหยื่อที่ถูกล่อหลอกใช้ประโยชน์อีกต่อไป
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำไปขบคิดว่าทำอย่างไรให้เอกสารรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในทุกบ้านไม่ปล่อยให้สูญเปล่าแต่ถูกนำมาศึกษาและพูดถึงกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะเนื้อหาและเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะส่งผลต่อปากท้อง สุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน และที่สำคัญคือการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เห็นคุณค่าและความสำคัญการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ใครควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน ผมเห็นว่า รัฐ (อดีต)สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา และชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ ควรเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ทั้งในระดับภาพกว้าง ภาพย่อย และภาพรวมระดับประเทศ ดังนี้
ในระดับภาพกว้าง... ldquo;รัฐrdquo; ควรใช้วิทยุและโทรทัศน์ที่อยู่ในกำกับเป็นช่องทางในการสื่อสารแก่ประชาชน โดยให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและนักวิชาการ ได้อธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตั้งแต่ 1) การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ 2) การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม 3) การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม 4) การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองและกฎกติกาต่าง ๆ ให้ประชาขนเข้าใจเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ดังนั้นจะต้องคิดในรูปของสปอตโฆษณาและรูปแบบรายการที่จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจพื้นฐานด้านกฎหมายและเจตนารมณ์ในแต่ละหมวดของรัฐธรรมนูญอย่างง่าย ๆเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เพียงเท่านั้น รายการต้องเปิดช่องทางในการแสดงความคิดเห็น มีการถาม-ตอบในรายการ หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างถ่องแท้ ย่อมส่งผลต่อดีต่อการพัฒนาทางการเมืองในเรื่องของการตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตนและชุมชนท้องถิ่นที่พึงมี การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การขจัดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง รวมถึงการมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและยื่นขอถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน
ในระดับภาพย่อย... อาจจะเริ่มต้นที่กระทรวงมหาดไทย และ(อดีต)สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดต่าง ๆ ให้มีการจัดสัมมนา อบรม และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญไปยังชุมชนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตื่นตัวในระดับรากหญ้า และมีความเข้าใจในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ และนำมาใช้เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง
ในระดับภาพรวมของประเทศ... ควรผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน เท่ากับเป็นการปลูกฝังเยาวชนซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ให้เข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ระเบียบแบบแผนของการปกครองประเทศ สิทธิและหน้าที่ของประชาชน การถ่วงดุลอำนาจ และเรียนรู้ที่จะมีวิถีชีวิตและวิธีคิดในการปกครองตนเองในลักษณะที่จะทำให้ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝังให้เห็นความสำคัญในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เยาวชนของชาติเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีคุณธรรมจริยธรรมโดยไม่คิดจะคดโกงหรือเอาเปรียบผู้อื่น แต่พร้อมจะเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
โดยสรุปแล้ว สังคมไทยไม่ควรดีใจและหยุดเพียงเพราะออกเสียงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ควรสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญและการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้ และเป็นพลเมืองที่ดีที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยให้มีความเข้มแข็ง
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2550
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-09-25