ผู้ประกอบการเพื่อสังคม? เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้คนในสังคม

.ดร.เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
------------------------------------------------------------------------------------
ความรู้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมฐานความรู้ ซึ่งการที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ จำเป็นที่ประชาชนในสังคมต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้ แต่ปัญหาคือ รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดการศึกษาและการเรียนรู้ได้ทั่วถึง ทำให้มีคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ส่งผลทำให้ขาดโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
ดังนั้น เพื่อแบ่งเบาภาระของแก่รัฐบาล ประเทศไทยควรมีองค์กรทางสังคมเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการจัดการเรียนรู้ให้แก่คนในสังคม ผมอยากเสนอให้รัฐบาลไทยสนับสนุน ให้มีผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur: SE) เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้แก่คนในสังคมผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งการให้บริการรัฐของรัฐอาจยังไม่ทั่วถึง ไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับการให้ภาคส่วนอื่นให้เข้ามาดำเนินการ
ประเทศอังกฤษ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ให้เข้ามีส่วนช่วยเหลือสังคมด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการพัฒนาการเรียนรู้ของคนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสที่มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลมีหน่วยงานและนโยบายช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
รัฐบาลอังกฤษเห็นคุณค่าการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม

ประเทศอังกฤษมีกระทรวงภาคส่วนที่สาม (Minister for the Third Sector) ที่จัดตั้งขึ้นเนื่องจากการเห็นความสำคัญของภาคส่วนที่สาม หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส นายเอ็ด มิลิแบนด์ (Ed Miliband) รัฐมนตรีประจำกระทรวงนับว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม สามารถหาผู้สนับสนุนเงินทุนได้ถึง 1.2 ล้านปอนด์ สำหรับการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนนวัตกรรม เพื่อพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้กับภาคส่วนที่สาม ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ได้ประกาศหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักงานภาคส่วนที่สาม (Office of the Third Sector: OTS) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สะท้อน ldquo;เสียงrdquo; กลุ่มผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม และหาแนวทางประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งยังมีจุดมุ่งหมายในการเป็นศูนย์กลางผู้เชี่ยวชาญในการประสานงานระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนที่สาม เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงผู้ประกอบการเพื่อสังคมเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้คนในสังคม
การรวมพลังผู้ประกอบการเพื่อสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
นอกจากการที่รัฐให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมแล้ว ในภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมกว่า 1 หมื่นองค์กร ได้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise Coalition: SEC) ในปี 2002 เป็นองค์กรระดับประเทศ เพื่อสะท้อนความต้องการของตนต่อรัฐบาล ช่วยขยายขอบเขตและเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือคนในสังคม และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร ในการทำงานช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ ซึ่งตัวอย่างผู้ประกอบการเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษ อาทิเช่น
บริษัท Cosmic ตั้งขึ้นในปี 1996 เป็นองค์กรธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ทำงานเพื่อคนท้องถิ่นในชนบท โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ห่างไกลที่ระบบไอทีเข้าไปไม่ถึง องค์กรนี้จะสนับสนุนการฝึกอบรมด้านไอทีให้แก่คนในชุมชน รวมถึงการให้บริการด้านไอซีทีแก่องค์กรในชุมชนและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ เช่น การจัดทำเว็บไซต์และฝึกอบรมด้านไอที

บริษัท Newlife
เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านการจ้างงานและฝึกอบรมแก่ผู้ที่ตกงานมานาน และเยาวชนที่ออกจากโรงเรียนและกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา มีการประเมินกันว่าการที่บริษัทสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายมีงานทำ ได้ส่งผลให้กระทรวงการคลังประหยัดงบประมาณได้ราว ๆ 77,000 ปอนด์ต่อปี นั่นหมายความว่าบริษัท Newlife ได้ช่วยลดภาระของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้ได้รับการพัฒนาความรู้และมีงานทำ
สมาคมฟุตบอล AFC Telford Utd Ltd เป็นสมาคมฟุตบอลที่ชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ 100% ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษากีฬาฟุตบอลให้อยู่ในเมืองเทลฟอร์ด (Telford) ทางสมาคมนำเงินที่ได้มานั้นไปสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการกีฬา เช่น การพัฒนาสนามกีฬา และการพัฒนาการกีฬาในด้าน ๆ โดยมีโครงการสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส (Vulnerable children project)และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centre) ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือเด็กและคนในชุมชน ได้มีโอกาสได้ใช้บริการด้านกีฬาที่หลากหลาย ครบวงจร มีคุณภาพ และทันสมัย นอกจากนั้นมีโครงการการให้บริการห้องไอซีที และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษา และคอมพิวเตอร์ ให้ด้วย

ดังที่นำเสนอมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคม ได้มีส่วนช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของคนในสังคม และแบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดการเรียนรู้ได้ รัฐบาลอังกฤษซึ่งเล็งเห็นประโยชน์ของผู้ประกอบการเพื่อสังคม จึงมีการกำหนดนโยบายที่สนับสนุนอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็จะได้รับประโยชน์ในการขยายธุรกิจด้วย
สู่ภาคปฏิบัติในประเทศไทย

ผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น นอกจากจะช่วยอุดช่องโหว่การให้บริการเพื่อการเรียนรู้ของรัฐที่ไม่ทั่วถึงแล้ว ยังช่วยลดภาระด้านงบประมาณของรัฐ อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดบริการด้านการเรียนรู้ให้คนไทยได้มากขึ้น

การให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้คนในสังคมไทยได้นั้น จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์สภาพบริบทไทยที่เกี่ยวข้องว่า สามารถผลักดันผู้ประกอบการเพื่อสังคม ให้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้หรือไม่และอย่างไร รวมถึงต้องกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสนับสนุนของภาครัฐในการให้องค์กรที่ประกอบการเพื่อสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ การสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรหรือโปรแกรมสอนการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม การให้ความรู้และข้อมูลอย่างเป็นระบบแก่ผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม รวมถึงการสร้างค่านิยมและการประชาสัมพันธ์องค์กรที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้เป็นที่รู้จัก ได้รับยอมรับ และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ ฯลฯ
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
งานอัพเกรด
เมื่อ: 
2007-09-20