หยุดปัญหา?ใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา
ปัจจุบันเกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงขึ้นระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และระหว่างครูกับนักเรียน ทั้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและนอกโรงเรียน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความรุนแรงที่เกิดในโรงเรียน ระหว่างครูและนักเรียน ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน เพราะสิ่งเหล่านี้ อาจหล่อหลอมให้นักเรียนมีพฤติกรรมความรุนแรง และออกไปก่อความรุนแรงนอกสถานศึกษาได้
จากผลการศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนทั่วประเทศ ปี 2549 โครงการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน ป. 4 จนถึง ม. 3 พบว่า ร้อยละ 68.6 ถูกเพื่อนรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง ร้อยละ 20 ถูกรังแกสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง โดยการด่า กลั่นแกล้ง แย่งสิ่งของ การข่มขู่ และการทำร้ายร่างกาย ขณะที่ครูส่วนใหญ่ มักลงโทษผู้เรียนที่ก่อความรุนแรงหรือทำผิดด้วยการตี และการทำร้ายจิตใจ ผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน ปี 2549 สมัชชาเด็กและเยาวชน จ. อุดรธานี พบว่า ครูกว่าร้อยละ 77.3 ลงโทษด้วยการตี ร้อยละ 68.9 ใช้วิธีการตะคอกใส่ ร้อยละ 54.1 พูดสบประมาท ประชดประชัน และมีนักเรียนร้อยละ 8 ถูกครูทำโทษโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งหากปล่อยไว้ อาจเป็นการบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงในผู้เรียนได้
ก่อนอื่นคงต้องวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดความรุนแรงในสถานศึกษา ซึ่งมีด้วยกัน 2 สาเหตุ
สาเหตุที่เด็กก่อความรุนแรงและทำผิด ครอบครัว เกม สื่อมวลชน กรณีที่ครอบครัวเลี้ยงดูแบบลงโทษและแบบเผด็จการ หรือสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี เด็กจะมองโลกแง่ร้าย สุขภาพจิตเสื่อม และก้าวร้าว ฯลฯ นอกจากนี้ เกมและสื่อ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ข้อมูลโครงการ Child Watch สถาบันรามจิตติ พบว่า เด็กร้อยละ 10 หรือประมาณ 7 แสนคน ก่อความรุนแรง สาเหตุมาจากเกม ละคร ภาพยนต์ที่รุนแรง
สาเหตุที่ครูใช้ความรุนแรง ปัญหาอารมณ์จิตใจ ขาดทักษะการแก้ปัญหา อำนาจนิยมศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก วิเคราะห์สาเหตุที่ครูทำโทษด้วยความรุนแรง มี 2 สาเหตุ สาเหตุแรกครูผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์เมื่อเกิดความเครียดอาจระบายอารมณ์กับเด็กด้วยการตี หรือต่อว่า สาเหตุที่สองครูขาดทักษะการจัดการปัญหาเด็กครูจำนวนมากยังเชื่อว่าการลงโทษด้วยการตีเป็นวิธีที่ได้ผล นอกจากนี้ มีความคิดเห็นจากผู้ที่ทำงานด้านเด็ก มองว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มีโครงสร้างแบบอำนาจนิยม ส่งผลให้ครูจำนวนมากมีพฤติกรรมใช้อำนาจกับเด็ก ประกอบกับการเรียนการสอนเป็นการสื่อสารทางเดียว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ครูขาดทักษะการฟัง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าใจผู้เรียน
การแก้ปัญหาและป้องกันการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา
พัฒนา ทดสอบ ความรู้ด้านจิตวิทยาและทักษะอารมณ์ ครูส่วนใหญ่มักลงโทษเด็กด้วยการตีหรือการดุด่า เพราะรับรู้วิธีนี้มาตั้งแต่เป็นนักเรียน ดังนั้น ศธ. ควรปรับปรุงการพัฒนาครู โดยเพิ่มเติมในเรื่องจิตวิทยาและทักษะอารมณ์ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาครูก่อนประกอบวิชาชีพครู นักศึกษาควรได้รับการทดสอบความรู้จิตวิทยาและทักษะทางอารมณ์ หากใครไม่ผ่านจะไม่สามารถไปประกอบวิชาชีพครู และเมื่อมาเป็นครูประจำการ ควรมีการทดสอบและประเมินผลสภาพจิตใจและอารมณ์เป็นระยะ นอกจากนี้ ควรมีการสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นกับครู ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์ของครู เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้ครูระบายอารมณ์กับนักเรียนเมื่อเกิดความเครียด
ทดสอบและประเมินทักษะทางอารมณ์ของนักเรียน สถานศึกษามีระบบทดสอบและประเมินทักษะทางอารมณ์ของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น และมีการส่งผลผลการทดสอบและประเมินไปยังระดับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือเมื่อเปลี่ยนสถานศึกษา เพื่อปรับพฤติกรรมผู้เรียนในระยะยาว
ร่วมมือกับนักจิตวิทยาแก้ปัญหาและป้องกันใช้ความรุนแรงสถานศึกษาร่วมมือกับนักจิตวิทยา เพื่ออบรมครูแนะแนว ครูประจำชั้น และครูฝ่ายปกครอง ให้เข้าใจสภาพของผู้เรียน รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาและการลงโทษที่ถูกต้องเหมาะสม
มีช่องทางสื่อสารระหว่างสถานศึกษากับครอบครัว สถานศึกษามีช่องทางสื่อสารเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กสู่สถานศึกษาและจากสถานศึกษาสู่ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนดูแลและแก้ไขพฤติกรรมเด็ก โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงใช้ความรุนแรง รวมถึง ให้พ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็ก และวิธีการลงโทษเด็กที่ไม่เกินกว่าเหตุ เพื่อปกป้องเด็กไม่ให้ถูกกระทำความรุนแรงภายในสถานศึกษา
พัฒนาระบบการลงโทษในสถานศึกษาที่ได้มาตรฐาน สถานศึกษาควรมีระบบการลงโทษผู้เรียนที่ได้มาตรฐานและยุติธรรม โดยไม่ควรให้ครูคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินลงโทษนักเรียน แต่ควรมีหลายฝ่ายเข้าร่วมพิจารณา เช่น ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น ครูแนะแนว เพื่อนสนิท นักจิตวิทยาในพื้นที่ ฯลฯ โดยปรับภาพลักษณ์ของครูฝ่ายปกครองที่มีความเอื้ออาทร พึ่งได้ และมีความยุติธรรม
ผมขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกท่าน เพราะอาชีพครูถือเป็นงานหนัก ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้เรียน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการหามาตรการที่สามารถคลายปมปัญหา อันเป็นสาเหตุหลักของความรุนแรงในสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาเป็นสถานที่บ่มเพาะปัญญา ไม่ใช่ความรุนแรง
* ภาพจาก http://pugchato.wordpress.com/2007/02/03/final-score/
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-09-20
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,475 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,306 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,223 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,050 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,457 ครั้ง