การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในยุคหลังโควิด (ตอนที่ 1): ข้อจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

ข้อจำกัดในการพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน ที่ผู้ประกอบการในชุมชนควรเข้าใจ เพื่อจะสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างแท้จริง และช่วยสร้างโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชุมชนในช่วงหลังการระบาดของโควิด 

ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความเข้มแข็งของหน่วยธุรกิจในระดับต่างๆ ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น เพื่อสร้าง เศรษฐกิจชุมชน ให้เจริญก้าวหน้าจึงจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา แรงงานจำนวนมากย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม และพบว่าคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะกลับมาอยู่แบบถาวรหรือยาวนานกว่าปกติ โดยเลือกที่จะหางานและสร้างอาชีพในบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนได้

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้ประกอบการหรือประกอบอาชีพในชุมชนชนบทไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมา โครงการของภาครัฐจำนวนหนึ่งที่เข้าไปส่งเสริมการสร้างงานและสร้างอาชีพในชุมชนประสบความล้มเหลว เช่น สินค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของชุมชนจำนวนหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เป็นหนี้สิน หรือไม่สามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานได้

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความล้มเหลว คือ การขาดความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ลักษณะ โครงสร้าง ระบบเศรษฐกิจชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจในภาพรวม พฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของผู้เล่นต่างๆ โครงสร้างตลาดชุมชน และตลาดอื่นๆ เป็นต้น

สิ่งที่เป็น ข้อจำกัดในการพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน ที่ผู้ประกอบการในชุมชนควรเข้าใจ เพื่อจะสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างแท้จริง และช่วยสร้างโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชุมชนในช่วงหลังการระบาดของโควิด มีดังต่อไปนี้

1. ขาดความประหยัดจากขนาด
ตลาดภายในชุมชนหรือในท้องถิ่นมีขนาดเล็ก ในขณะที่ยอดขายของวิสาหกิจชุมชนกระจุกตัวอยู่ในชุมชน จังหวัด หรือภูมิภาค ยกตัวอย่างการศึกษาวิสาหกิจชุมชน OTOP ในจังหวัดหนองคาย พบว่า ร้อยละ 88 ของยอดขายทั้งหมดอยู่ภายในจังหวัดหรือในภูมิภาค แต่มียอดจำหน่ายในตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีเพียงร้อยละ 7.77 และร้อยละ 0.35 เท่านั้นที่ขายในตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ หากสังเกตจากยอดขายสินค้า OTOP ทั้งประเทศในปี 2561 พบว่ามีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเท่านั้น ด้วยการผลิตในขนาดเล็กจึงทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง และไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนและการผลิต ดังนั้น การทำตลาดนอกชุมชนหรือนอกภูมิภาค จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

2. ขาดความหลากหลายของกิจกรรมเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจในชุมชน โดยเฉพาะในชุมชนชนบทนั้นขาดความหลากหลาย อย่างน้อยใน 2 มิติ

มิติแรก เศรษฐกิจภายในแต่ละชุมชนไม่หลากหลาย กิจกรรมเศรษฐกิจมีเพียงไม่กี่ประเภท โครงสร้างเศรษฐกิจไม่ซับซ้อน และเป็นการผลิตขั้นพื้นฐาน มูลค่าเพิ่มต่ำ และขาดความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทาน

มิติที่สอง เศรษฐกิจระหว่างชุมชนยังขาดความหลากหลายด้วย แต่ละชุมชนมีปัจจัยการผลิตคล้ายกัน เพราะมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ส่งผลทำให้ผลิตสินค้าและบริการที่คล้ายๆ กัน

เมื่อขาดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูง ผลผลิตของแต่ละชุมชน เกิดการแข่งขันกันเอง วิสาหกิจชุมชนจำนวนหนึ่งจึงล้มเหลว หรือมีรายได้ไม่มากพอที่จะเป็นรายได้หลักของสมาชิก

3. ขาดการต่อยอดบนฐานความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ
ชุมชนจำนวนมากยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ด้วยหลายสาเหตุ อาทิ ข้อจำกัดด้านแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากร ทรัพยากรที่มีอยู่เสื่อมโทรม การขาดความสามารถและเทคโนโลยีในการนำทรัพยากรมาประยุกต์ใช้ รวมถึงโครงการพัฒนาชุมชนส่วนหนึ่งไม่ได้พัฒนาให้สอดคล้องกับจุดแกร่งหรือความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของชุมชน

ตัวอย่างจากการสำรวจหมู่บ้านและชุมชน 74 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พบว่า มีหมู่บ้านและชุมชนถึง 41 แห่ง ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้ อาทิ ไม่มีแหล่งหรือกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นเพื่อสร้างจุดขาย

หรือขาดการวิจัยและพัฒนาและใช้ความคิดสร้างสรรค์มากพอในการสร้างจุดขายของชุมชน ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ ได้ศึกษาพบว่า วิสาหกิจชุมชนที่ใช้การวิจัยและมีความคิดสร้างสรรค์จะมีกำไรสูงกว่าวิสาหกิจชุมชนอื่น ถึงร้อยละ 67-69

4. ขาดบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
ที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนยังขาดการบูรณาการในหลายมิติ ดังนี้

มิติแรก ขาดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคกิจ เช่น การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ความรู้ ทรัพยากร และเครือข่าย ไม่เพียงพอในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง

มิติที่สอง ขาดการบูรณาการระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้โครงการส่งเสริมอาชีพหรือการผลิตจำนวนมาก เมื่อจบการอบรมแล้วไม่สามารถหาแหล่งจ้างงานได้ หรือเมื่อผลิตแล้วไม่มีตลาดที่รับซื้อผลผลิต

มิติที่สาม ขาดการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างพื้นที่ ทำให้ขาดการนำจุดแข็งและศักยภาพของแต่ละชุมชนมาเสริมกันและกัน เช่น การโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีเพียง 162 หมู่บ้าน ที่ได้เกรดเอ จาก 3,273 หมู่บ้าน หากมีการบูรณาการให้หลายชุมชนร่วมมือกันจัดเส้นทางการท่องเที่ยว อาจทำให้การท่องเที่ยวชุมชนน่าสนใจมากขึ้น

มิติที่สี่ ขาดการบูรณาการระหว่างจุลภาคและมหภาค เพราะความสำเร็จของชุมชนหนึ่งๆ เมื่อนำมาขยายผลกับชุมชนทั่วประเทศอาจล้มเหลวในภาพรวม เช่น การเพิ่มผลิตภาพของสินค้าเกษตรบางท้องถิ่นทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้สูงขึ้น แต่หากเพิ่มผลผลิตทั่วประเทศทันที อาจทำให้สินค้าเกษตรล้นตลาด เกษตรกรทั้งประเทศรายได้ลดลง เป็นต้น

5. ขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ
ชุมชนในชนบทขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะสูง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่สถาบันการศึกษาและสถาบันการฝึกอบรมแรงงานอย่างเป็นทางการไม่มาตั้งในชุมชน เพราะประชากรมีจำนวนน้อย ซึ่งทำให้คนในชุมชนที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและฝึกอบรมทักษะได้ ในขณะที่คนในชุมชนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาและฝึกอบรม ส่วนใหญ่ต้องย้ายไปทำงานนอกชุมชน เพราะไม่มีงานให้ทำในชุมชน

6. ขาดระบบบริหารที่ดีในธุรกิจแบบมีส่วนร่วม (Mutual Business)
วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์จำนวนมากยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งอาจสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ เช่น ระบบสหกรณ์ไม่อาจสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกลงทุนเพิ่ม เพราะสมาชิกทุกคนมีเสียงเดียวเท่ากัน ไม่ว่าจะมีหุ้นเท่าไร และเมื่อสมาชิกมีหุ้นน้อย ย่อมขาดแรงจูงใจในการพัฒนาสหกรณ์ เป็นต้น

ด้วยข้อจำกัดข้างต้น ทำให้การสร้างงานและสร้างอาชีพในชุมชนชนบท ไม่สามารถพัฒนาด้วยวิธีการแบบเดิม การทำงานให้หนักขึ้น เร็วขึ้น และฉลาดขึ้น คือทางรอด หากต้องการยกระดับชนบทให้พ้นจากความยากจน

ที่ผ่านมา ผมได้พยายามช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนผ่านการลงมือทำในบทบาทภาคธุรกิจและประชากิจมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายมาตลอดหลายสิบปี สำหรับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในยุคหลังโควิด นั้น ผู้เขียนจะนำเสนอในโอกาสหน้าครับ 

 

แหล่งที่มา : cioworldbusiness.com
26/11/2565

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando   

Tags: