นวัตกรรมยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุเพื่อฟื้นประเทศ
ปัจจุบันสัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมเพิ่มสูงขึ้น แต่นโยบายผู้สูงอายุของไทยนั้น ยังเน้นการจัดสวัสดิการ และการดูแลด้านกายภาพของผู้สูงอายุเป็นหลัก อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมผู้สูงอายุทั้งประเทศ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายผู้สูงอายุในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากผู้สูงอายุ ที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์จากชีวิตที่ผ่านมา และการพัฒนานโยบายผู้สูงอายุ เพื่อการพัฒนาประเทศและฟื้นประเทศ มากกว่าจะเป็นเพียงการจัดสวัสดิการเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมจึงได้เสนอยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุเพื่อฟื้นประเทศที่ครอบคลุมทุกมิติของผู้สูงอายุ ให้กับตัวแทนภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจที่สถาบันการสร้างชาติ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ
1) ตั้งเป้าเป็น Elderly Healthcare Capital
วิกฤติโควิดทำให้ ประเทศต่าง ๆ ปรับทิศทางสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งไทยยังไม่มีความพร้อมในเวลาอันสั้น ผมจึงเสนอให้ Jump Start ประเทศ โดยใช้จุดแกร่งของไทยในด้านการดูแลผู้สูงอายุ ดึงดูดคนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถ 1 ล้านคน เข้ามาทำงานและเกษียณในไทย เพื่อเติมพลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
2) ส่งเสริมภาคธุรกิจที่เป็นจุดตัดของการดูแลผู้สูงอายุกับจุดแกร่งอื่นของไทย
จุดแกร่งของประเทศไทยที่ชัดเจนมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ การท่องเที่ยว อาหาร การสร้างสุขสภาพ (wellness) และการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้นหากนำจุดแกร่งอื่นมาผสมกับการดูแลผู้สูงอายุก็จะสามารถเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูประเทศได้มากขึ้นด้วย ทั้งการส่งเสริมธุรกิจที่เป็น 2 จุดตัด เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ หรือ 3 จุดตัด เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
3) ฝึกอาชีพและจัดหางานเพื่อผู้สูงอายุ
ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางในการรวบรวมข้อมูลสมรถนะผู้สูงอายุ ฝึกอบรม และจัดสรรงานที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการเกษียณ เพื่อรักษาความเป็นหนุ่มสาวทางด้านจิตใจ ซึ่งมีความสำคัญเชื่อมโยงกับการดูแลร่างกาย และใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4) ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนและการประกอบอาชีพโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ภาครัฐควรจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนให้กับประชาชนที่เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณอายุและผู้สูงวัย เพื่อให้มีความรู้และทักษะด้านการลงทุนและการประกอบอาชีพหลังการเกษียณอายุ
5) ทำให้มีเงินออมในวัยชรา
ปัจจุบัน การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีลักษณะเป็นมาตรการเหวี่ยงแห ทำให้คนที่ไม่สมควรได้รับกลับได้รับ แต่ผู้สูงอายุที่ยากลำบากส่วนหนึ่งกลับเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ ผมจึงเสนอให้ใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อกระจายเบี้ยยังชีพให้ทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะ อสม. มีข้อมูลด้านสุขภาพของครอบครัว ทำให้รู้จักและมีข้อมูลผู้สูงอายุดีที่สุด นอกจากนี้ ภาครัฐควรปรับปรุงระบบกองทุนต่าง ๆ และออกนโยบายการออมภาคบังคับ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีเงินออมไว้ใช้อย่างเพียงพอเมื่อเข้าสู่วัยชรา
ด้านสังคมและสุขภาพ
1) ตั้งเป้าให้คนไทยอยู่ได้ 123 ปี
การมีอายุ 123 ปีเป็นวิสัยทัศน์ที่มุ่งหวังให้คนไทยมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยตัวเลข 123 ปีเป็นข้อสรุปจากการเดินทางไปศึกษาข้อมูลในพื้นที่ ๆ มีผู้สูงอายุจำนวนมากในโลก (Blue Zone) ซึ่งผมพบว่า คนสามารถมีอายุยืนได้ถึง 123 ปี หากมีการใช้ชีวิตที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยใหม่ที่พบว่ามนุษย์อาจอายุยืนได้ถึง 150 ปีอีกด้วย
2) จัดตั้งเนอร์สเซอรี่ 2 วัย
ผมเสนอว่า สถานประกอบการที่มีพนักงานรวมกันมากกว่า 200 คนควรจัดให้มีเนอร์สเซอรี่สำหรับเด็กปฐมวัยและเนอร์สเซอรี่สำหรับผู้สูงอายุ โดยมีการประกันคุณภาพการบริการในสถานประกอบการด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดลูกหลาน และรู้จักเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งเป็นการลดภาระของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุด้วย
3) จัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
การจัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่เกิดในผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ลดการแออัดกับคนป่วยในวัยอื่น ๆ และสามารถออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ และเพิ่มบริการที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุได้
4) จัดตั้ง “บ้านผู้สูงอายุประจำชุมชน”
ทุกชุมชนควรมีแหล่งพบปะพูดคุยของผู้สูงอายุ มีกิจกรรม และมีการดูแลกัน โดยภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณ และอาจให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการให้สำเร็จ ซึ่งฮ่องกงเป็นชาติที่ใช้ยุทธศาสตร์นี้ดูแลผู้สูงอายุจนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
5) สร้างครอบครัวอุปถัมภ์
แนวคิดการสร้างครอบครัวทดแทน มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมคนที่มีใจอยากช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล โดยผนวกเป็นสมาชิกในครอบครัว มีการดูแลเยี่ยมเยียน ช่วยเหลือ และพาไปทำกิจกรรม เสมือนเป็นคนครอบครัวเดียวกัน
6) ปรับปรุงสาธารณสุขให้ทันสมัย
นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุควรเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา เพื่อลดภาระงบประมาณการรักษาพยาบาลในอนาคต ขณะที่วิถีชีวิตผู้สูงอายุในสังคมในปัจจุบันและอนาคตมีแนวโน้มที่สามารถจะป้องกันความเจ็บป่วยด้วยการดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้มากขึ้น เห็นได้จากนวัตกรรม และ Start Up ด้านการดูแลตนเอง ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น TELEMEDICINE หรือ Application รับปรึกษาสุขภาพ เป็นต้น
ด้านการศึกษา
1) การศึกษาที่ผนวกความรู้ของผู้สูงอายุ
การศึกษาไม่ควรถูกจำกัดด้วยความรู้ในตำรา แต่ประยุกต์และเชื่อมโยงระบบการศึกษาเข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในชุมชนและมีความสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น เช่น ส่งเสริมให้มีคลังสมองชุมชนเกิดขึ้น โดยให้ชุมชนแต่ละชุมชนร่วมกันรับทอดบทเรียนและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ จากผู้สูงอายุในชุมชน อาทิ ภูมิปัญญา แล้วนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับกลุ่มบุคคลที่สนใจ
2) การศึกษาที่ผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง
การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุด้วย และควรเป็นการศึกษาที่เดินเข้าไปหาผู้สูงอายุ หรือเอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกและมีความเหมาะสมกับบริบทการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ การจัดให้มีหน่วยบริการหรือห้องสมุดเคลื่อนที่แวะเวียนไปให้ความรู้กับผู้สูงอายุตามที่ต่าง ๆ เป็นต้น
3) การศึกษาที่มีหลักสูตรหลากหลาย
ระบบการศึกษาควรเอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกศึกษาได้ตามอัธยาศัย เช่น การพัฒนาหลักสูตรเพื่อผู้สูงอายุในมหาวิทยาลัย หรือการจัดทำศูนย์ฝึกอบรมเพื่อผู้สูงอายุ โดยอาจเปิดเป็นหลักสูตรรายเดือนหรือรายสัปดาห์ และควรจัดให้มีทั้งหลักสูตรขั้นพื้นฐานทั่วไป และวิชาเฉพาะตามความถนัดและความสนใจ และเชื่อมโยงกันระหว่างความรู้เชิงคุณธรรมและความเข้าใจชีวิต กับความรู้ในวิชาทั่วไป
4) การศึกษาที่คำนึงถึงมิติเชิงเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ
ระบบการศึกษาควรจัดให้มีทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุที่มีความต้องการและมีความจำเป็นที่จะต้องมีงาน มีรายได้เพื่อดูแลตนเอง รวมทั้ง ยังเป็นการช่วยลดภาวะการพึ่งพิงของกลุ่มคนเหล่านี้ให้น้อยลงอีกด้วย เช่น การกำหนดอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และจัดอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพนั้น ๆ เป็นต้น
ผู้สูงอายุ นับว่าเป็น “สมบัติที่มีค่าของสังคม” มิใช่ “ปัญหาของสังคม” แนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุนั้นจึงควรทำอย่างมีความเข้าใจ มองให้ลึกลงไปในจิตใจถึงความต้องการของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง และต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและครบองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม