จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเรียนให้ถึงระดับปริญญาเอก?
ผมเป็นคนชอบการเรียนรู้ หากเป็นไปได้จะพยายามเข้าสัมมนาและเรียนในหลักสูตรต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือที่มีสาระ
และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในตัวเอง ผมมองว่าการยอมให้เวลาไปกับการเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ชีวิตเราทำประโยชน์ได้มากขึ้น
เมื่อไม่นานนี้ ผมได้อ่านบทความหนึ่งในนิตยสาร Forbes – The 400 Richest People in America ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 เป็นเรื่องเกี่ยวกับระดับการศึกษาของเศรษฐีในสหรัฐอเมริกา โดยเปิดประเด็นว่า การศึกษาถึงระดับปริญญาเอกจำเป็นหรือไม่ เราจำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาสูงถึงระดับใด ถึงจะมีโอกาสเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกได้
การศึกษาระดับปริญญาเอกคืออะไร? สามารถช่วยให้มีความรู้มากขึ้นสำหรับการประกอบอาชีพได้จริงหรือไม่? หรือเป็นการเรียนเพียงเพื่อให้ได้ปริญญา หรือแท้จริงแล้ว เป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจดีในการแสวงหาความรู้
การจบการศึกษาระดับปริญญาเอกอาจไม่ได้รับรองว่า จะทำให้เราเป็นเศรษฐีระดับโลกได้ เพราะจากการจัดอันดับของ Forbes 400 ที่เป็นเสมือนเครื่องมือที่สะท้อน “ความเพียงพอ” ของระดับการศึกษาต่อการเป็นเศรษฐีสหรัฐฯ พบว่า การศึกษา “ระดับปริญญาตรี” ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเป็นเศรษฐีในสหรัฐ
บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกส่วนใหญ่ใน Forbes 400 มองว่า การเรียนสูงขึ้นไม่ได้ทำให้ได้รับอะไรไปมากกว่า “ใบปริญญา” แม้ในกลุ่ม Forbes 400 มีคนจบปริญญาตรีถึงร้อยละ 84 ก็ตาม ซึ่งตัวเลขนี้นับว่าเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับเพียงร้อยละ 33 ของกลุ่มผู้ใหญ่ชาวอเมริกาทั้งประเทศที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
ประเด็นที่น่าสนใจคือ มหาเศรษฐีที่ถูกจัดอันดับใน Forbes 400 ถึงร้อยละ 23 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือสถาบันกลุ่มไอวี่ ลีกส์ (Ivy League Institution) เช่น มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น ขณะที่คนอเมริกันทั่วไป มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 0.8 ที่จบจากไอวี่ ลีกส์ ซึ่งอาจแสดงว่าคุณภาพการศึกษาคงมีผลต่อความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บุคคลใน Forbes 400 จำนวนหนึ่งขอพักการเรียนเพื่อออกมาเริ่มต้นเส้นทางอาชีพของตนเอง ที่เห็นได้ชัด คือ บิล เกตต์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ขอพักการเรียนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
นอกจากนี้ จากรายชื่อเศรษฐีประจำปี 2017 ใน Forbes 400 มีถึง 47 คน ที่ขอพักการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและวิทยาลัย เพื่อเข้าสู่เส้นทางการทำงาน และมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก
ก่อนที่จะตอบคำถามว่า “จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเรียนให้ถึงระดับปริญญาเอก?” เราคงต้องตอบให้ได้ก่อนว่า “ปริญญาเอก” คืออะไร รวมถึงต้องถามย้อนกลับไปว่า เป้าหมายชีวิตคืออะไร ความสามารถ ความถนัด ความชอบ จุดแข็ง จุดเด่นในตัวคุณคืออะไร และต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า วันนี้เราค้นพบตัวเองแล้วใช่หรือไม่
หากเป้าหมายในชีวิตของเราจำเป็นต้องใช้การศึกษาระดับสูงเป็นเครื่องมือ ก็จงเรียนให้สูงและไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับผม การศึกษาระดับปริญญาเอกโดยแท้ คือ การเริ่มหัดเรียนรู้วิธีผลิตและหัดผลิตความรู้ใหม่ให้โลก ผ่านการทำวิจัย เพราะการทำวิจัยแท้ คือ การผลิตความรู้ใหม่ให้โลก และพร้อมพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เพื่อก้าวไปให้ถึงสุดพรมแดนความรู้ในแต่ละศาสตร์หรือวิชานั้นๆ คนจบปริญญาเอกที่แท้จริงมีคุณภาพ จึงมีโอกาสเป็นวิสามัญชนที่สร้างคุณูปการแก่โลก ด้วยการค้นหาและบริจาคความรู้ใหม่แก่มนุษยชาติ ผมจึงเห็นคุณค่าคนเรียนจนจบปริญญาเอก
การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่แท้จริงตามนิยามของผมนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องลงมือทำอย่างทุ่มเท จริงจัง และให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ในชีวิต ดังคำของผมที่พูดอยู่เสมอๆ ว่า “คำว่าบังเอิญ ไม่มีในพจนานุกรมของความสำเร็จ”
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า มหาเศรษฐีระดับโลกหยุดการเรียนรู้ตั้งแต่ออกจากสถาบันการศึกษา แต่เป็นที่ทราบอยู่โดยทั่วกันว่า คุณสมบัติที่มหาเศรษฐีเหล่านี้มีตรงกัน คือ การรักการเรียนรู้ ดังนั้นแม้พวกเขาไม่ได้จบปริญญาสูง แต่ความรู้ทั่วไปที่พวกเขามีอาจไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้จบปริญญาเอก เพียงแต่ไม่ถูกรับรองด้วยใบปริญญาเท่านั้น
หลายครั้ง ผลงานที่เทียบเท่าระดับปริญญาเอก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทว่าอาจจะเกิดขึ้นในองค์กร บริษัท หน่วยงานใดๆ ได้ทั้งสิ้น หากมีการทำวิจัยหรือการผลิตองค์ความรู้สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกได้สำเร็จ
ดังตัวอย่าง Facebook ที่สามารถแปรเปลี่ยนผลงานวิจัยและพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Facebook Live API ที่ให้สามารถถ่ายทอดสดได้จากทุกอุปกรณ์และทุกที่ในโลกใบนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับการดำรงชีวิตของมนุษย์และธุรกิจสื่อโทรทัศน์ โดยก่อนหน้านี้ Facebook ได้ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปิดตัวกันถ้วนหน้า
ความสำเร็จของเศรษฐีและผู้มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน ต่างเกิดขึ้นจากการค้นพบตัวเองแล้วทั้งสิ้น กล่าวคือ มักค้นพบและมีเป้าหมายชีวิตบางอย่างที่ชัดแจ้งหรือซ่อนอยู่ ค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข รู้ว่าตัวเองชอบและเก่งในเรื่องใด รู้ว่ากำลังจะเดินไปในทิศทางใด อันเห็นได้จากผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา ทั้งด้านรายได้ ความมีชื่อเสียง และผลกระทบอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ประเทศและโลกในวงกว้าง
สุดท้าย ผมขอสรุปว่า การจะเป็นเศรษฐีระดับโลก โดยปกติไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยความบังเอิญ แต่มักเกิดจากการมีเป้าหมายในชีวิต และทำในสิ่งที่ตรงกับความถนัดของตนเอง ตลอดจนการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองก็ตาม
ในภาพระดับประเทศ การสร้างคนให้มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสาขาอาชีพใด เราจำเป็นต้องพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศให้มีคุณภาพระดับโลก การศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาต้องไม่เป็นเรือนจำทางปัญญาที่ดีแต่สร้างคนที่มีความรู้ท่วมหัว แต่กลับเอาตัวไม่รอด แต่ต้องเป็นเรือนเพาะชำทางปัญญาเพื่อเมื่อจบการศึกษาไป ไม่ว่าระดับใดจะสามารถเติบโตทางความรู้และปัญญาได้อย่างแท้จริง
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Post date:
Friday, 9 February, 2018 - 14:09
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,500 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,336 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,268 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,081 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,486 ครั้ง