วิเคราะห์เก่ง คาดการณ์แม่น แก้ปัญหาได้
เราคงจำได้ในยุคหนึ่ง สมาร์ทโฟนยี่ห้อ Blackberry ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐได้เกือบครึ่ง แต่ภายในปีเดียวหลังจากแอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟนในปี 2007 ส่วนแบ่งการตลาดของ Blackberry ในสหรัฐฯ ร่วงลงจากร้อยละ 44 เหลือเพียงร้อยละ 9 และหุ้นบริษัทร่วงลงไปถึงร้อยละ 70 ในเวลาแค่เพียงหนึ่งปี สาเหตุหลักมาจากการที่ จิม บาลสิลี่ (Jim Balsillie) ซีอีโอของ RIM (Research In Motion) บริษัทผู้ผลิต Blackberry ปรับตัวช้าเกินไป แทนที่จะรีบหาทางรับมือกับคู่แข่งอย่างไอโฟน ซึ่งหากวิเคราะห์และคาดการณ์ย่อมเห็นแนวโน้มการเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว แต่ซีอีโอคนนี้กลับเพิกเฉย และมัววุ่นวายอยู่กับการพยายามซื้อทีมฮ็อคกี้...ซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญในเวลานั้นเลย
ผลที่เกิดขึ้น แม้ว่า จิม บาลสิลี่ จะแสดงความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในหน้าที่ ด้วยการลาออก แต่ชื่อสมาร์ทโฟน Blackberry ก็ไม่เคยหวนกลับคืนสู่ตลาดได้อีกเลย...
ผมกล่าวเสมอว่า ผู้นำประเทศที่ดีต้องรู้จักต้นข้าวทุกต้น โดยไม่ต้องลงไปปลูกเอง...ต้องมองเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร รู้ว่าใครทำอะไร เพื่ออะไร รู้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไร รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร รู้ว่าอนาคตอาจเกิดอะไรขึ้น และจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร...
ความสามารถในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และแก้ไขปัญหา จึงเป็นความสามารถอีกประการหนึ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องมี และเป็นเรื่องคนทำงานทุกคนจำเป็นต้องพัฒนา เพื่อให้พร้อมก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น อยู่ในฐานะหัวหน้างาน ผู้บริหารงานมืออาชีพในอนาคต โดยพัฒนาความสามารถในเรื่องต่อไปนี้
ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา ? รู้จริง แก้ตรงจุด เราต้องมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักวิเคราะห์หาเหตุและผลที่แท้จริง ค้นหาสาเหตุของปัญหาได้อย่างแม่นยำ มองทุกสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าได้อย่างไม่เชื่อทันทีหรือด่วนสรุปในสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินอย่างมีอคติ แต่วิเคราะห์หาเหตุผล ที่มาที่ไป สามารถจำแนกแจกแจง แยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจกระจ่างในเหตุปัจจัยที่แท้จริง และสามารถจัดลำดับความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด รวมทั้ง สามารถคาดคะเนผลกระทบที่เกิดตามมาในปัจจุบัน และในอนาคตได้
คนทำงานที่ต้องการพัฒนาตนเองเป็นผู้นำจึงต้องฝึกเป็นนักคิดวิเคราะห์ คิดวิพากษ์ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เชื่อหรือตัดสินสิ่งใดอย่างง่าย ๆ แต่ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต ช่างสงสัย เป็นนักตั้งคำถามที่ดี ให้ความสนใจในรายละเอียด เก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบ และต้องเรียนรู้ที่จะนำเทคนิควิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ สืบค้น เพื่อให้สามารถค้นพบความจริงและแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาได้
ความสามารถในการคาดการณ์ปัญหา ? รู้ก่อน ป้องกันได้ เราต้องบอกกับตนเองเสมอว่า ?อย่ามีปัญหาโดยไม่จำเป็น? ต้องไม่รอให้ปัญหาเกิดก่อนค่อยตามแก้ไข แต่คาดการณ์ล่วงหน้าเสมอว่า อาจเกิดปัญหาใดขึ้นบ้าง และหาวิธีแก้ไขไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมการป้องกันไว้ โดยคาดการณ์จากภารกิจที่ทำอยู่ คาดการณ์แนวโน้มด้านต่าง ๆ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในองค์กร ในสังคม และในโลก ประเมินเปรียบเทียบว่าอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างไร ถ้าเรายังคงทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะเกิดอะไรขึ้น แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจะมีผลต่อเป้าหมายและการทำงานของเราหรือไม่ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจริง
เราควรฝึกทักษะการคิดเชิงอนาคต ต้องไวต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทต่าง ๆ คาดการณ์แนวโน้มและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ต้องไม่ปล่อยให้การทำงานผ่านไปเรื่อย ๆ ตามความเคยชิน ตั้งคำถามเสมอว่า ?ถ้าเกิด...ขึ้น จะทำอย่างไร?? ?ถ้า...ไม่เป็นไปตามแผน จะทำอย่างไร?? ฯลฯ ต้องกระตือรือร้นและพร้อมที่จะปรับตัว เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ
ความสามารถในการตอบสนองปัญหา ? รู้วิธีแก้ไข ไม่แก้ตัว เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจะหาทางแก้ไขทันที ไม่ปล่อยทิ้งไว้ โดยคิดว่าเวลาจะเยียวยาปัญหานั้นเอง ไม่เสียเวลาบ่นต่อว่า หรือกล่าวตำหนิติเตียน แต่ต้องตอบสนองปัญหาอย่างรวดเร็ว พยายามหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาให้หมดไป ด้วยความสงบ มีสติ มีเหตุผล ไม่ตื่นตระหนก ไม่ใช้อารมณ์พาไป โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกันอย่างรวดเร็ว วิเคราะห์ลงรายละเอียดอย่างรอบคอบ และพยายามหาทางเลือกต่าง ๆ ที่หลากหลาย ประเมินผลกระทบผลดี-ผลเสียในแต่ละทางเลือก และเลือกการตัดสินใจที่ดีที่สุด
คนทำงานจึงควรฝึกทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ ต้องมั่นใจว่าทางเลือกที่ตัดสินใจนั้น ถูกต้องเหมาะสม คงเส้นคงวา ต้องมีใจที่เปิดกว้าง รับฟังคำแนะนำ ขอคำปรึกษาจากคนกลุ่มต่าง ๆ มีการใช้เทคนิดวิธีต่าง ๆ เข้ามาช่วย มีความสามารถในการประเมินปัจจัยสภาพแวดล้อมอย่างครบถ้วน ทั้งภายในและภายนอก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างอารยะแท้จริง
คนเก่งจะไม่สร้างปัญหา ไม่สะสมปัญหา และไม่เสียเวลาบ่นต่อว่าปัญหา แต่มีความสามารถในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 699 วันที่ 12-19 สิงหาคม 2557
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Post date:
Wednesday, 28 October, 2015 - 11:24
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
การส่งเสริมความร่วมมือไทย อินเดีย เพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 1,160 ครั้ง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,093 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 3 ประสิทธิผล
Total views: อ่าน 5,173 ครั้ง
เก่งจริง ต้องร่วมทีมได้
Total views: อ่าน 5,320 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 2 ประสิทธิการ
Total views: อ่าน 4,800 ครั้ง