การส่งเสริมท้องถิ่นให้เข้มแข็ง

เดลินิวส์
คอลัมน์ ?แนวคิด ดร.แดน?

ถึงแม้ว่าท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แต่ท้องถิ่นกลับได้รับความสำคัญค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นผลจากกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมที่เน้นการพัฒนาในเขตเมืองแต่ละเลยชนบท ทำให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา

ทิศทางการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้ความเจริญกระจุกตัวในเขตเมืองมากขึ้น เพราะทุกคนต่างมุ่งเป้าหมายไปยังแหล่งที่ตนสามารถสร้างรายได้หรือผลกำไรได้มากที่สุด โดยเฉพาะการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากไปสู่เมืองใหญ่ ขณะที่ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่ามาก



โครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระจุกตัว ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบหรือมีศักยภาพในการพัฒนาท้องถิ่นไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาท้องถิ่น ท้องถิ่นส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ปัญหาการขาดกำลังคนเพราะไม่สามารถดึงคนเก่งหรือคนที่มีความสามารถให้อยู่ในท้องถิ่นได้ การปกครองท้องถิ่นของไทยยังมีปัญหาบุคลากรหรือข้าราชการที่ส่งไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นมีความจำกัด

ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาการทุจริตในระดับท้องถิ่นยังมีความรุนแรงไม่ต่างจากการเมืองระดับชาติ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นมีเป้าหมายเพื่อใช้อำนาจในการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking) การริเริ่มโครงการต่างๆ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง โดยมิได้คำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในขณะที่การตรวจสอบภายในท้องถิ่นยังขาดประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผลจากการแพร่กระจายของวัฒนธรรมต่างประเทศและความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไทย การรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต และมีการรับค่านิยมและแนวการปฏิบัติที่อาจไม่เหมาะสม วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามและหลากหลายในสังคมสูญหายไป หรืออาจถูกบิดเบือนไปจากหลักการดั้งเดิมที่ดี รวมทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นอาจถูกละเลยหรือไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่นได้

นอกเหนือจากผลกระทบจากการพัฒนาในอดีต กระแสโลกาภิวัตน์จะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต ผมจึงขอเสนอแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งและมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ดังต่อไปนี้

ประการแรก การพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น โดยศึกษาความต้องการของตลาดแรงงานในท้องถิ่น และพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การปรับหลักสูตรการศึกษาของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น มิใช่ผลิตบัณฑิตที่คล้ายกันทั้งหมดทั่วประเทศ ขณะเดียวกันนักศึกษาต้องได้รับการปลูกฝังให้รักท้องถิ่นและตั้งใจกลับไปรับใช้ท้องถิ่นเมื่อสำเร็จการศึกษา

ประการที่สอง การประยุกต์ความรู้ทางวิชาการสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ โดยสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นควรมุ่งพัฒนาองค์ความรู้หรือประยุกต์ความรู้และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำวิจัยเชิงพาณิชย์ร่วมกับภาคธุรกิจและประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น อาทิ การจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อนำงานวิจัยสู่การพัฒนาท้องถิ่น การนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่มาสาธิตในท้องถิ่น เป็นต้น

ประการที่สาม การพัฒนาฐานข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยเฉพาะแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่มีคุณภาพและหลากหลายเพื่อบริการแก่คนในท้องถิ่น รวมถึงการมีเวทีหรือช่องทางให้คนในท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ เสนอความเห็น เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นของตน รวมทั้งมีกระบวนการรวบรวมและจัดระบบข้อมูลและความรู้ต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่เอื้อต่อการพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ประการที่สี่ การพัฒนาและปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยในท้องถิ่น โดยการพัฒนาการศึกษาบนฐานการเมือง เพื่อปลูกฝังประชาธิปไตยแก่ผู้นำชุมชนท้องถิ่นและทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจการเมืองอย่างถูกต้อง ไม่มองการเมืองว่าเป็นเรื่องที่ชั่วร้ายที่คนเข้ามาเพื่อแบ่งผลประโยชน์ แต่ต้องวางรากฐานความคิดและมุมมองใหม่ เพื่อปลูกฝังว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ดีงามและพิเศษที่คนดีควรเข้ามามีส่วนร่วม มาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น และการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ง่ายต่อการเข้าไปมีส่วนร่วม รวมทั้งรู้จักวิธีมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องและอยากเข้ามาร่วมสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น

ประการที่ห้า การปลูกฝังแนวคิดชุมชนนิยม ที่ผ่านมาปัญหาของการไม่สามารถพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ยั่งยืนได้ คือ การไม่สามารถจูงใจให้คนที่มีระดับการศึกษาสูงหรือมีสติปัญญาอยู่ในพื้นที่ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากคนในชุมชนขาดการเห็นคุณค่าของชุมชนและท้องถิ่น แต่ให้คุณค่ากับปัจเจกชนนิยม ดังนั้นประชาชนในท้องถิ่นจึงควรได้รับการปลูกฝังแนวคิดชุมชนนิยม เพื่อให้คนเห็นคุณค่าของชุมชนและเกิดความรักท้องถิ่น

ประการที่หก การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ผมเคยเสนอ แนวคิด ?ทุนวัฒนธรรม? คือ การนำวัฒนธรรมมาใช้สร้างคุณค่าหรือใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เช่น การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าบนฐานวัฒนธรรมชุมชน การศึกษา รวบรวม และจัดระบบวัฒนธรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรม การพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีความทันสมัยมากขึ้น เป็นต้น

การพัฒนาท้องถิ่นให้แข็งแกร่งนั้น จำเป็นต้องการมีการวางระบบและกลไกที่เอื้อต่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วม และเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล และปัญหาในมิติต่างๆ ของประเทศจะลดน้อยลง

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.dailynews.co.th/imagecache/670x490/cover/632518.jpeg