การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน (Financial Literacy) กับการพัฒนาประเทศ

ในเดือนกันยายนที่จะมาถึงนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development - OECD) ได้ร่วมกับธนาคารกลางของฟิลิปปินส์และรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดงานสัมมนา The Asian Seminar on Financial Literacy and Inclusion: Addressing the Upcoming Challenges ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยในงานสัมมนานี้จะมีการอภิปรายกันในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ Financial Literacy หรือความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs แรงงานอพยพ รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นต้น

แหล่งที่มา : http://s3.amazonaws.com/files.posterous.com/wealthcreative/CvSyyUKJK1T9sj3IJMpQPhItf2NyIIEgTI4U1LKNznoqH8h6u67Lengx7bFh/08FinLitHeader.jpg?AWSAccessKeyId=AKIAJFZAE65UYRT34AOQ&Expires=1351137557&Signature=rJdo6LD7JijqSRcm%2BUQi%2Fc33Zos%3D
การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าภาครัฐ นักวิชาการ นักวิจัยควรศึกษาเรียนรู้เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
 
การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน (Financial Literacy) ในที่นี้ หมายถึง ?ความสามารถในการเข้าใจความรู้พื้นฐานในเรื่องการเงิน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน ซึ่งทำให้เราตระหนักถึงความเสี่ยงและโอกาสทางการเงินการลงทุน รู้ว่าเมื่อต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินจะต้องปรึกษาผู้ใด รวมทั้งสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลและสามารถวางแผนการทางด้านการเงินและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคั่งทางด้านการเงิน? (OECD, 2005)
 
การอ่านออกเขียนได้ทางการเงินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เนื่องจาก การอ่านออกเขียนได้ทางการเงินช่วยเสริมแรง (Empower) ให้แก่ภาคประชาชนในการบริหารจัดการตัวเองได้ดีขึ้น
โลกในศตวรรษที่ 21 นั้นตลาดการเงิน ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินจำนวนมากให้ประชาชนได้เลือกมากกว่าในอดีตมาก การอ่านออกเขียนได้ทางการเงินจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจทางเลือกทางการเงินต่างๆ ที่มี ประชาชนสามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ในการประเมินผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอยู่ในตลาดและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล ทำให้ประชาชนสามารถได้ประโยชน์สูงสุดจากทางเลือกที่มีอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ตามมาคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถวางแผนการออม บริหารจัดการทางการเงินส่วนตัวได้ดีขึ้นและมีส่วนช่วยในการลดปัญหาความยากจนได้อีกทางหนึ่ง
 
การขาดความรู้ทางด้านการเงินนำไปสู่การตัดสินใจทางด้านการเงินที่ไม่ดีซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่แต่ละคนและสังคม มีงานศึกษาเชิงประจักษ์จำนวนมากที่พบว่าบุคคลที่มีความรู้ทางด้านการเงินน้อยมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาหนี้สินมาก มีเงินออมน้อย กู้ยืมเงินด้วยต้นทุนที่สูงกว่าปรกติ และมักจะละเลยการวางแผนสำหรับการเกษียณอายุในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา รวมทั้งสร้างภาระทางด้านงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่ภาครัฐในการที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นภาระในการดูแลเรื่องสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในอนาคตหรือปัญหาหนี้สิน ดังที่เราเห็นได้จากการที่ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้จากการกู้หนี้นอกระบบหรือหนี้บัตรเครดิต รวมทั้งหนี้สินข้าราชการครูและหนี้สินเกษตรกร ซึ่งการช่วยเหลือในแต่ละปีแต่ละครั้งนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เป็นต้น
 
เมื่อการอ่านออกเขียนได้ทางการเงินมีความสำคัญดังที่ได้กล่าวไป สิ่งที่น่าสนใจ คือ ระดับการอ่านออกเขียนได้ทางการเงินในไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
 
บริษัท Master Card ได้จัดทำดัชนีเพื่อวัดการอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ชื่อว่า The MasterCard Worldwide Index of Financial Literacy โดยดัชนีดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคอายุ 18 ? 64 ปี หลายพันคนจาก 24 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและตะวันออกกลาง โดยดัชนีนี้ประกอบด้วย องค์ประกอบย่อย 3 ประการ คือ
 
1) การบริหารการเงินพื้นฐาน หมายถึง ความสามารถในการกำหนดค่าใช้จ่ายส่วนตัว การวางแผนการออมและการชำระหนี้
2) การวางแผนทางการเงิน หมายถึง การมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ของสถาบันการเงินและความสามารถในการวางแผนเพื่อหาเงินได้อย่างเพียงพอในระยะยาว
3) การวางแผนการลงทุน หมายถึง การมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน มีทักษะที่เพียงพอในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทต่างๆ
 
ผลการสำรวจในปี 2010 พบว่า ?ผู้หญิงไทย? มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางการเงินสูงที่สุด เป็นอันดับ 1 จาก 24 ประเทศที่ทำการสำรวจ สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างนิวซีแลนด์ (อันดับ 2) ออสเตรเลีย (อันดับ 3) สิงคโปร์ (อันดับ 5) ญี่ปุ่น (อันดับ 13) เกาหลีใต้ (อันดับ 14) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการสำรวจในปี 2012 เมื่อไม่นานมานี้กลับพบว่าอันดับของประเทศไทยลดลงอย่างมากมาอยู่อันดับที่ 11 จาก 25 ประเทศ (Master Card Worldwide, 2012)
 
ปัญหาของ Index of Financial Literacy ของ Master Card คือ ไม่ได้อธิบายถึงกลุ่มตัวอย่างให้ชัดเจนว่าดัชนีดังกล่าวสำรวจจากประชากรกลุ่มใด อย่างไร เราไม่ทราบว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนภาพรวมของประชากรที่แท้จริงหรือไม่ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงอันดับของไทยอย่างมากจากอันดับ 1 ในปี 2010 เป็น อันดับที่ 11 ในปี 2012 โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ทำให้เกิดคำถามว่าดัชนีดังกล่าวสะท้อนภาพความเป็นจริงของประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด
 
ถึงแม้ว่า Index of Financial Literacy ไม่ได้อธิบายภาพการอ่านออกเขียนได้ทางการเงินของไทยให้เห็นชัดเจน แต่ผมคิดว่าหากมองเข้าไปในสังคมถึงปัญหาหนี้สินของประชาชนกลุ่มต่างๆ อัตราการออมของคนไทยที่ต่ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ภาครัฐและประชาชนต้องเตรียมตัว สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณให้เห็นว่าภาครัฐควรจะต้องส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ทางการเงินในสังคมไทยมากขึ้น
 
ส่วนคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยอ่านออกเขียนได้ทางการเงินมากขึ้น? หากมีโอกาสผมจะเขียนแบ่งปันความคิดของผมในบทความต่อๆ ไปครับ
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด