เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการก่อการร้าย
ที่มาของภาพ http://1.bp.blogspot.com/-I0m_U_o1wCs/Td_Nl9socpI/AAAAAAAAAWY/LAz0Y2f-BiQ/s1600/money-to-burn.jpg
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุระเบิดขึ้นกลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งเป็นชาวอิหร่าน วางแผนใช้ระเบิดซีโฟร์ก่อเหตุในประเทศไทย ผู้ต้องหาบางส่วนถูกจับกุมได้แล้ว บางส่วนหลบหนีกลับไปยังอิหร่านแล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงสอบสวนเพิ่มเติมในคดีนี้อยู่
เหตุการณ์ความไม่สงบลักษณะนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้จึงมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งหันมาศึกษา ?เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการก่อการร้าย? มากขึ้นและเผยแพร่ผลงานศึกษามากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการรับมือและป้องกันการก่อการร้ายหรือการก่อเหตุความไม่สงบได้ดียิ่งขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาด้านการก่อการร้ายได้ศึกษาพบแบบแผนการก่อการร้ายว่าจะมีแนวโน้มมากขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำและช่วงเวลาที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในประเทศที่มีฐานะร่ำรวย โดยยิ่งนานวันมากขึ้นการก่อเหตุยิ่งรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายนอกจากจะส่งผลทางตรง คือ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การก่อการร้ายยังมีผลทางอ้อม คือ ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากการบริโภค การลงทุน การค้าระหว่างประเทศและเงินทุนไหลเข้าที่น้อยลง (อย่างไรก็ตามผลกระทบนี้ยังน้อยกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในประเทศหรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ) โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบิน ซึ่งอุปสงค์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดหากมีการก่อการร้ายเกิดขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลดี คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและความมั่นคง
นอกจากนี้การก่อการร้ายยังมีผลกระทบต่อมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทต่างๆ ด้วย โดยงานศึกษาเชิงประจักษ์พบว่าการก่อการร้ายมีผลกระทบด้านลบต่อมูลค่าหลักทรัพย์ในระยะสั้นและผลกระทบนี้จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุน
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ ภาครัฐควรดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดและผลกระทบจากเหตุก่อการร้าย?
ในการปราบปรามการก่อการร้ายให้หมดสิ้นไปเลยนั้นอาจทำได้ยาก เพราะไม่เพียงผู้ก่อความไม่สงบจะมีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์เหนือรัฐเนื่องจาก ข้อมูลข่าวสารไม่สมมาตรแล้ว ยังเป็นผลจากการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องของทั้งสองฝ่ายด้วย
นโยบายเพื่อต่อสู้การก่อการร้ายนั้นจึงอาจทำได้ 2 ลักษณะ คือ ใช้กำลังในการโต้ตอบ หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ การเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสของการก่อการร้ายให้สูงขึ้น โดยการทำให้เป้าหมายมีความสนใจน้อยลง หรือลดการนำเสนอสื่อลงเพื่อให้ความน่าสนใจของมันลดลง
จากงานศึกษาเศรษฐศาสตร์การก่อการร้าย พบว่าผู้ก่อความไม่สงบนั้นมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการ เป้าหมาย และช่วงเวลาอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้รัฐซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการตอบโต้ที่มีความหลากหลาย (Enders and Sandler, 2004; Frey, 2004) เช่น การพยายามยับยั้ง อาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม เพราะ อาจทำให้ความรุนแรงยิ่งเพิ่มมากขึ้น, การเจรจาต่อรองก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่อาจสามารถทำได้, การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้บ่อย แต่ค่อนข้างเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพ, การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน หรือ การกระจายอำนาจหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดความน่าสนใจของเป้าหมาย รวมทั้งมาตรการที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งค่อนข้างได้ผล คือ การตรวจสอบและควบคุมแหล่งเงินทุนของผู้ก่อความรุนแรงอย่างเข้มงวดขึ้นโดยมีกฎระเบียบที่แน่ชัด รวมทั้งการปรับปรุงการทำงานของสถาบันทางด้านกฎหมายและการปกครอง เป็นต้น
การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่เกิดขึ้นบ่อยในกรุงเทพมหานครหรือประเทศไทย แต่ภาครัฐควรจะศึกษาเรื่องนี้ไว้เช่นเดียวกัน เพื่อหาหนทางที่ดีและเหมาะสมในการรับมือในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น
Post date:
Wednesday, 29 February, 2012 - 11:00