ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ : ความท้าทายและผลกระทบต่อประเทศไทย
ในบทความครั้งก่อน ผมได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว และพึ่งพาประเทศพัฒนาแล้วลดลง แต่จะพึ่งพากันและกันมากขึ้น ตลอดจนมีแนวโน้มรวมกลุ่มกันมากขึ้น ทำให้มีอำนาจต่อรองและมีบทบาทในการกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญทั้งโอกาสและความเสี่ยง บทความนี้ ผมจะวิเคราะห์ถึงความท้าทายและผลกระทบของระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่มีต่อประเทศไทย ดังต่อไปนี้
ที่มา....http://molehillsales.com/wp-content/uploads/2010/02/You-can-easily-boost-your-sales-with-these-steps.jpg
ประการแรก การแข่งขันที่รุนแรงจากเศรษฐกิจเกิดใหม่
ประเทศไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในทวีปอาฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งมีแรงงานราคาถูก และทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิมและประเทศที่มีศักยภาพเป็นมหาอำนาจใหม่จะแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศจีนเข้าไปลงทุนและให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา เช่น ลาว กัมพูชา เมียนม่าร์ ประเทศในอาฟริกา เป็นต้น
ตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการเติบโตและเป็นคู่แข่งของไทย อาทิ อินโดนีเซียซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่จากจำนวนประชากรถึง 240 ล้านคนและมีสภาพทางการเมืองที่มีความมั่นคงมากขึ้น อินโดนีเซียจึงมีความน่าลงทุนและมีศักยภาพในการเติบโต โดยมีการคาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2593 อีกประเทศหนึ่งคือ เมียนม่าร์ ซึ่งมีการพัฒนาประชาธิปไตยในทิศทางที่ดีขึ้น มีทรัพยากรด้านพลังงานจำนวนมาก และมีภูมิศาสตร์อยู่ระหว่างอาเซียน จีนและอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูง
ประการที่สอง การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเกิดใหม่
โครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยผูกติดกับมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าสัดส่วนการค้าและการลงทุนกับประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มลดลง แต่มูลค่าการค้ากับประเทศเหล่านี้ยังคงมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 32 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และประเทศไทยยังพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในปี 2553
ขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีการขยายตัวสูงและมีศักยภาพเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตยังมีค่อนข้างน้อย แม้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่าการค้ากับประเทศจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12 และมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีนคิดเป็นร้อยละ 8 แต่การค้าและการลงทุนกับอินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ยังมีมูลค่าน้อยมาก ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ยังมีจำกัด และการสนับสนุนจากภาครัฐในการบุกเบิกตลาดเหล่านี้ยังจำกัด
ด้วยเหตุที่ไทยพึ่งพาตลาดเดิมสูงมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจเดิมอยู่ในภาวะถดถอย อาจดึงเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามไปด้วย ขณะที่ไทยยังมีความสัมพันธ์ค่อนข้างน้อยกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง ทำให้มีข้อจำกัดหรือเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนกับประเทศที่มีศักยภาพเป็นมหาอำนาจใหม่
ประการที่สาม การสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่
แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะมีหลายขั้วอำนาจมากขึ้น การแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจเก่าและขั้วอำนาจใหม่จะเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก จีนพยายามขยายอิทธิพลไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในอาเซียน ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และอาฟริกา ขณะที่อินเดียเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สหรัฐฯ จึงเริ่มขยับตัว หันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น หลังจากที่มีท่าทีไม่ใส่ใจประเทศเหล่านี้มาเป็นเวลานาน
สถานการณ์เช่นนี้ อาจเป็นประโยชน์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพราะจะทำให้ประเทศมหาอำนาจหันมาให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น ทั้งการให้สิทธิพิเศษทางการค้า เงินช่วยเหลือ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน การแข่งขันของมหาอำนาจขั้วต่างๆ ก็เป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยในการสร้างสมดุลระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ คำถามคือ ไทยจะดำเนินยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างไร จะรักษาดุลอำนาจของมหาอำนาจที่มีต่อไทยอย่างไร เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดในสถานการณ์เช่นนี้
ประการที่สี่ การบริหารความเสี่ยงจากความซับซ้อนของเศรษฐกิจโลก
การเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่และการรวมกลุ่มของเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ทำให้เราอาจต้องเผชิญปัญหาอันเกิดจากความซับซ้อนและความหลากหลายของกฎระเบียบและมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยกลุ่มต่างๆ การบริหารจัดการเศรษฐกิจจึงมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างๆ ที่มีมาตรฐานและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน การพัฒนามาตรฐานของภาคการผลิตที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานที่แตกต่างกันของประเทศที่เป็นคู่ค้า และการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยหลายสกุลเงิน ทำให้มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดสัดส่วนของเงินสกุลต่างๆ ในเงินทุนสำรองฯ มีปัจจัยจำนวนมากขึ้นที่ต้องพิจารณา
เศรษฐกิจโลกจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้อาจมีการพัฒนากฎระเบียบ สถาบัน ระบบการกำกับดูแล และระบบการบริหารเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีพอ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นและกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้
ประการที่ห้า การกีดกันทางการค้าและการช่วยเหลือโดยรัฐ
ความถดถอยของมหาอำนาจเศรษฐกิจเดิม อาจทำให้เกิดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น เช่น สหรัฐฯ อาจต้องใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อลดการขาดดุลการค้าต่อจีนและเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ หรือการที่รัฐบาลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจในประเทศของตนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง ในขณะที่ภาคการผลิตในประเทศยังไม่เข้มแข็ง อาจทำให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นมากขึ้น หรือเกิดการแข่งขันกันเพื่อในการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐ (state aid) ต่อภาคเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง
มาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและการส่งออกของไทยทั้งในตลาดเดิมและตลาดเกิดใหม่
ประการที่หก การรักษาความมั่นคงและยั่งยืนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกในอนาคตมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีอัตราการขยายตัวสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แต่หากพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดใหม่เติบโตขึ้นอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตด้วยการขยายตัวของผลิตภาพ (TFP growth) ได้แก่ จีน อินเดีย และรัสเซีย
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตด้วยการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตเข้ามาในประเทศ ได้แก่ ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตด้วยการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตเข้ามาในประเทศ ได้แก่ ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับประเทศจีน จากที่มีความเข้าใจว่า จีนผลิตสินค้าราคาถูก ลอกเลียนแบบ มีคุณภาพต่ำ ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนกำลังเปลี่ยนแปลงจากการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มน้อยและใช้แรงงานราคาถูก ไปสู่การผลิตสินค้ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ สังเกตได้จากผู้จบการศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 288 ระหว่างปี 2540-2547 โดยร้อยละ 43 ของบัณฑิตจบสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม และจีนยังมีแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาจากร้อยละ 1.4 ของจีดีพีในปี 2543 เป็นร้อยละ 2.5 .ในปี 2463
ส่วนประเทศอินเดีย มีจำนวนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 209 แห่งในปี 2533 เป็นมากกว่า 300 แห่งในปี 2548 โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดียติดอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชีย ค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของอินเดียยังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 ของจีดีพีในปี 2543 เป็นร้อยละ 1 ในปี 2547 และเป็นที่ทราบกันดีว่า อินเดียมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นจำนวนมาก
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขัน ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างราคาถูกและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ จากเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีผลิตภาพสูง และมีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม คำถามคือ ไทยจะรักษาความยั่งยืนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไร
ถึงแม้ว่า ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่มีแนวโน้มที่จะก่อประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพราะเป็นระเบียบโลกที่กำหนดขึ้นโดยประเทศกำลังพัฒนาเอง แต่ภายใต้โอกาสก็มีความเสี่ยงและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่จะเป็นคุณหรือโทษต่อประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตระหนักและเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้หรือไม่
Catagories:
Tags:
Post date:
Friday, 10 February, 2012 - 17:11
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 127 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 162 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 156 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,433 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,482 ครั้ง