ดึงดูดเด็กเก่งจากทั่วโลกสู่ฮาร์วาร์ด
แม้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของโลก แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายอยู่เสมอคือ การแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นในการรับนักศึกษา โดยเฉพาะการดึงดูดนักศึกษาที่มีสติปัญญาดี มีแรงบันดาลใจ เข้ามาเรียน เนื่องจากคนเหล่านั้นจะเป็นเสมือน ldquo;วัตถุดิบrdquo; ที่มีคุณภาพ และกลายเป็น ldquo;ผลผลิตrdquo; ที่มีคุณภาพ อันส่งผลต่อการสร้างชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่สามารถดึงคนเหล่านั้นเข้าไปเรียนได้ต่อไป
การค้นหาและรับนักศึกษาที่มีสติปัญญาดีเข้าสู่มหาวิทยาลัย ทำให้ฮาร์วาร์ดต้องหากลยุทธ์ที่หลากหลายในการดึงดูดนักศึกษากลุ่มนี้เข้าเรียน อาทิ
สนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อสร้างแรงจูงใจคนเก่งเข้าเรียน การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น ทุนการศึกษาทั้งที่เป็นทุนเต็ม และทุนบางส่วน เงินกู้ยืม และการจ้างงานนักศึกษา ซึ่งได้มาจากโครงกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับนักศึกษาฮาร์วาร์ด ที่มาจากดอกผลของ กองทุนเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย (Endowment Fund) ซึ่งจัดสรรเพื่อสนับสนุนเด็กเก่งที่ผ่านการคัดเลือกจากทางมหาวิทยาลัย ให้มีความมั่นใจว่าสามารถเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
ปัจจุบันพบว่านักศึกษาฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นระดับหัวกะทิกว่าร้อยละ 70 ได้รับทุนการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ และมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 2 ใน 3 ได้รับการช่วยเหลือ และล่าสุดฮาร์วาร์ดได้จัดสรรทุนเต็ม ให้นักศึกษาที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ เพื่อดึงดูดนักศึกษาจากทั่วโลก ให้มั่นใจในคุณภาพการเรียนการสอน
แหล่งรวมคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า คณาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นแรงดึงดูดประการหนึ่งที่ทำให้นักเรียนมีความสนใจ และอยากมาศึกษาต่อ ด้วยเหตุนี้ ฮาร์วาร์ดจึงได้ให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้สอน ที่จะพิจารณาจากคุณสมบัติในความโดดเด่นด้านชื่อเสียงและผลงานที่ประจักษ์ในเรื่องนั้น จากทั่วทุกมุมโลก และเชิญมาเป็นอาจารย์หรืออาจารย์พิเศษ เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับนักศึกษา คณาจารย์กว่า 2,520 คน[1] ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษา จึงล้วนได้ชื่อว่าเป็นอันดับ 1 ของโลกในสาขาวิชานั้น ๆ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังมีระบบจูงใจรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้อาจารย์มีผลงานทางวิชาการ งานวิจัยอยู่เสมอ ก่อเกิดการต่อยอดทางองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในทุกสาขาวิชา ดังจะเห็นได้จากตั้งแต่ปี 1974 มีอาจารย์จากฮาร์วาร์ดจำนวน 19 คน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่าง ๆ และ ที่ได้รับรางวัลพูลิซเซอร์จำนวน 15 คน
แหล่งผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ ทั้งจากผลงานวิจัยของคณาจารย์ฮาร์วาร์ด ผลงานวิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชนในการต่อยอดงานวิจัย สร้างนวัตกรรมสู่สังคม รวมถึงผลงานวิจัยที่มีลักษณะเป็นโครงการวิจัยที่มีชื่อเสียง ที่มักเกิดจากการเชิญคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงานจากทั่วโลกเข้าไปเป็นทีมงานได้ ในฐานะนักวิชาการอาวุโส หรือนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิประจำศูนย์ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตผลงานทางวิชาการ ให้คำปรึกษาด้านการทำวิจัยในสาขาที่เชี่ยวชาญแก่นักศึกษา
แหล่งพัฒนางานสอนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนักศึกษาได้รับการพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ศาสตร์สาขาต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในระดับสูงที่ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบห้องเรียนให้มีขนาดพอเหมาะ การจำกัดจำนวนนักศึกษา เพื่อให้ครู-ศิษย์ได้มีปฏิสัมพันธ์อย่างทั่วถึง บรรยากาศในห้องเรียนทุกวิชาที่เปิดโอกาสให้ได้ถกแถลงร่วมกัน ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้กรณีตัวอย่าง การอภิปรายร่วมกัน
แหล่งฐานข้อมูลทางวิชาการจากทั่วโลก นักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลคุณภาพดีในหลายช่องทาง ทั้งจากห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 3 ล้านเล่ม ศูนย์หนังสือที่มีหนังสือคุณภาพดีจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่มหาวิทยาลัยจัดหาไว้ เพื่อนักศึกษาจะไม่ต้องกังวลในเรื่องการเรียน เช่น เอกสารประกอบการเรียนที่ทางคณะได้จัดทำขึ้น เป็นการรวบรวมบทความ ข้อเขียนจากแหล่งต่าง ๆ การจัดให้มีชั้นเรียนทบทวนขึ้นทุกสัปดาห์ เป็นต้น
สื่อประชาสัมพันธ์เข้าถึงคนเก่ง ในความเป็นจริง ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และอาจเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ที่อยู่ในใจของผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษาทั่วโลก หากแต่มหาวิทยาลัยเองไม่เคยหยุดนิ่งในการสร้างภาพลักษณ์อันดีแก่ตนเอง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและก่อความประทับใจแก่ผู้เรียนระดับหัวกะทิจากทั่วโลกอยู่เสมอ ไม่ว่าโดยวิธีการจัดทัวร์ชมมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียน ผู้สนใจเยี่ยมชมบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย การจัดเดินสายเพื่อประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย (Road Show) แนะนำมหาวิทยาลัยผ่านเครือข่ายศิษย์เก่า สถาบันแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับฮาร์วาร์ด ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่นักเรียนต่างชาติทั่วโลก
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยอยู่ในกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม ประกอบกับความต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปของผู้เรียน ทั้งที่จบใหม่และกลุ่มคนที่ทำงานแล้วที่ต้องการกลับเข้ามาศึกษาต่อ อันเป็นแรงผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น ให้เป็นที่ดึงดูดนักศึกษาเลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของตน
ความพยายามพัฒนาคุณภาพวิชาการ การคัดเลือกคณาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อสร้างชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น
หากแต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การปรับปรุงระบบการคัดเลือกและพัฒนาบัณฑิต ที่ไม่ได้เรียนเพียงเพื่อใบปริญญา หากแต่เป็นการพัฒนาให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะตามศักยภาพสอดคล้องกับความถนัด รวมถึงพัฒนาให้มีจิตสำนึกเพื่อการสาธารณะร่วมด้วย อันเป็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาให้สูงขึ้น เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน และประเทศชาติในภาพรวม
[1] ldquo;University Faculty: Fall 2006rdquo; . Harvard University Fact Book 2006-2007. Harvard University. P.18
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-08-17