การกลับมาของนโยบายอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้ว
ที่มาของภาพ http://www.vcharkarn.com/uploads/150/150460.jpg
กระแสโลกในปัจจุบัน เราเริ่มเห็นประเทศพัฒนาแล้วหันกลับมาใช้นโยบายแทรกแซงภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จากเดิมซึ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เหมาะสมและปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้ตัดสินว่าอุตสาหกรรมใดมีโอกาสที่จะเติบโต ขณะนี้บรรดาผู้นำประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกได้ประกาศชัดเจนถึงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของตน ดังตัวอย่างของประธานาธิบดีโอบามาที่ได้กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯต้องตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์มากขึ้น ดังนั้นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯจึงจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน รถไฟความเร็วสูงและยานยนต์ขั้นสูง หรือตัวอย่างของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งได้กล่าวไว้เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการที่จะสร้าง ?บริษัทของญี่ปุ่น? ขึ้นมาใหม่ เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจกับรัฐให้มากขึ้น หรือกรณีของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่ประกาศว่าจะใช้นโยบายอุตสาหกรรมเชิงรุก ให้ความสำคัญกับภาคการผลิตมากขึ้น สนใจภาคบริการและอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เข้มข้นน้อยลง เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้นโยบายอุตสาหกรรมกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในประเทศพัฒนาแล้ว คือ
1) เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะตกต่ำ รัฐบาลถูกกดดันให้ลดการว่างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อสร้างงานและช่วยผู้ประกอบการในประเทศให้แข่งกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้
2) บางประเทศ เช่น สหรัฐและอังกฤษ ต้องการที่จะสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของตนใหม่ โดยให้ความสำคัญกับภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์น้อยลง และสนใจภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเวลานี้ประเทศใหญ่ๆ พยายามที่จะวางแผนเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น
3) การนำนโยบายอุตสาหกรรมมาใช้นั้นทำให้เกิดข้อเรียกร้องมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เช่น เสียงต่อว่าเกี่ยวกับการที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเจเนอรัลมอเตอร์และเอไอจี ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐมหาศาล ทำให้โอบามาต้องตั้งกองทุนกู้ยืม 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้กู้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น
4) ประเทศร่ำรวยทั้งหลายได้เห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของนโยบายอุตสาหกรรมที่ประเทศเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วอย่างจีนและเกาหลีใต้นำมาใช้ จึงนำนโยบายอุตสาหกรรมมาใช้บ้าง การนำนโยบายอุตสาหกรรมมาใช้นั้นมีข้อถกเถียงอย่างมาก ไม่ว่านโยบายอุตสาหกรรมนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนหรือปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่กำลังมีปัญหา เช่น เหล็ก หรือ เครื่องนุ่งห่ม หรือพยายามสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา เช่น โรโบติคส์ หรือ นาโนเทคโนโลยี เป็นต้น แต่การที่รัฐบาลเลือกสนับสนุนบางอุตสาหกรรมหรือบางบริษัทเพื่อให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งโอกาสที่จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวซึ่งอาจทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณมหาศาล
ในอดีตรัฐบาลสหรัฐฯเคยช่วยอุ้มบริษัทเครื่องผลิตบินล็อคฮีด ในปี 1971 ไครสเลอร์ในปี 1979 และขึ้นภาษีรถจักรยานยนต์ในปี 1983 เพื่อช่วยฮาเล่ย์เดวิดสัน แต่ความพยายามในการช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ล้วนไม่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น ดังนั้นโรนัลด์ เรแกนและจอร์จ บุช (ผู้พ่อ) จึงพยายามที่จะยกเลิกนโยบายอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ขณะที่ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นเช่นกัน อาทิ ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างซิลิกอนวัลเลย์ในสหรัฐฯ หรือในฝรั่งเศสที่สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์และรถไฟความเร็วสูง และเครื่องบินโดยสารแอร์บัสซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างฝรั่งเศส เยอรมันและสเปน เป็นต้น
จากประสบการณ์ในอดีตอาจพอทำให้สรุปได้ว่า
1) หากอุตสาหกรรมที่เลือกมานั้นสอดคล้องกับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของประเทศ นโยบายนั้นก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูง เช่น ชิลีซึ่งขยับออกจากการทำเหมืองแร่ ป่าไม้ เกษตรกรรม เข้าสู่อุตสาหกรรมถลุงแร่อะลูมิเนียม การทำฟาร์มปลาซัลมอน และการผลิตไวน์ เป็นต้น
2) นโยบายมีแนวโน้มจะล้มเหลวน้อยลง หากพยายามที่จะตามกระแสของตลาดไม่ใช่ชี้นำตลาด
3) นโยบายมีแนวโน้มที่จะได้ผลสำเร็จมาก หากรัฐบาลเลือกอุตสาหกรรมที่เป็นความสนใจโดยธรรมชาติและตนเองมีความสามารถ เช่น เทคโนโลยีทางการทหารหรือพลังงาน
4) ปัญหาสำคัญที่อาจทำให้นโยบายประสบความล้มเหลว คือ การที่นักการเมืองพยายามที่จะแทรกแซงโดยสนใจผลประโยชน์ระยะสั้น หรืออุตสาหกรรมที่ตัวเองได้ประโยชน์ ทำให้ทุ่มงบประมาณลงไปในอุตสาหกรรมที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือหรือไม่มีอนาคตในตลาดโลกอย่างแท้จริง
ปัจจุบันดูเหมือนประเทศไทยกำลังเดินไปเรื่อยๆ ภาครัฐสนับสนุนหลายอุตสาหกรรมอย่างกระจัดกระจายโดยไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ผมเห็นว่านโยบายอุตสาหกรรมนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งอาจช่วยเร่งกระบวนการพัฒนาของประเทศให้เร็วขึ้น ดังนั้นภาครัฐจึงควรกลับมาให้ความสำคัญกับนโยบายอุตสาหกรรม ศึกษาวิจัยและวางแผนอย่างจริงจัง เรียนรู้จากอดีตและประสบการณ์ของต่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมนำมาสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง
(ปล. ผู้ที่สนใจแนวคิดและงานศึกษาของผมในเรื่องนี้สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยที่ผมนำเสนอต่อวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เรื่อง ?ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทย? ปี 2547)
ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์การเมือง :ทัศนะวิจารณ์ วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553