ความสลับซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของชาติ
เราคงเคยได้ยินมาว่าประเทศที่จะได้ประโยชน์และมั่งคั่งจากการทำการค้าระหว่างประเทศ คือ ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ (Specialization) ในการผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ มีงานศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับความสลับซับซ้อน (Complexity) ทางเศรษฐกิจได้ให้มุมมองที่แตกต่างออกไป
ที่มาของภาพ http://www.vcharkarn.com/uploads/142/142570.jpg
ผมมีโอกาสได้อ่านงานศึกษาของศาสตราจารย์ริคาร์โด เฮาส์แมนน์ ซึ่งอยู่ที่ Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และซีซาร์ ฮิดัลโก ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่องความสลับซับซ้อนทางเศรษฐกิจกับความมั่งคั่งของประเทศ (ใน Harvard Magazine ฉบับ March-April 2010) โดยงานชิ้นนี้เป็นการต่อยอดงานศึกษาก่อนหน้านี้ของพวกเขาเกี่ยวกับการทำแผนที่ระยะห่างของสินค้า (Product Space) ซึ่งระบุตำแหน่งคลัสเตอร์ของกลุ่มสินค้าตามความเชื่อมโยงของมัน (ผมได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ” ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550)
ในงานศึกษาใหม่นี้เฮาส์แมนน์และฮิดัลโกใช้วิธีทางเน็ตเวิร์คไซน์ (Network Science) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่อาศัยการตรวจสอบเครือข่ายความเชื่อมโยงในระบบที่มีความสลับซับซ้อน โดยพิจารณาจากความหลากหลายและความหายากของสินค้าส่งออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพรวมของระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าการพิจารณาเพียงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นข้อมูลที่สำคัญ คือ โครงสร้างเศรษฐกิจ
ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่ คือ ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายมาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ภาคธุรกิจในแต่ละองค์กรนั้นมีความชำนาญเฉพาะทาง แต่ภาพรวมประเทศนั้นผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย
คำถามคือเหตุใดความสลับซับซ้อนจึงมีส่วนเชื่อมโยงกับความมั่งคั่งของประเทศ? ทั้งสองอธิบายว่าประเทศต่างๆ นั้นมีความแตกต่างกันในความสามารถในการผลิต ในขณะเดียวกันสินค้าต่างๆ ต้องการความสามารถในการผลิตที่แตกต่างกัน ประเทศที่มีความสามารถหลากหลายมากกว่า ไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าในปริมาณที่มากกว่า แต่ยังสามารถผลิตสินค้าชนิดที่มีน้อยประเทศที่สามารถผลิตได้ จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่จะสะสมความสามารถในการผลิตที่มีความซับซ้อน เช่น ความสามารถในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาสินค้าใหม่ที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถนั้นอย่างเชี่ยวชาญ ทำให้เมื่อประเทศเหล่านี้ได้สะสมและเพิ่มเติมความสามารถใหม่เข้าไป จึงสามารถที่จะผลิตสินค้าใหม่ได้มากชนิดขึ้น จากการนำความสามารถที่เพิ่มขึ้นนั้นเชื่อมโยงกับความสามารถที่มีอยู่เดิม ในขณะที่การเพิ่มความสามารถใหม่เข้าไปในประเทศที่มีความสามารถเดิมเพียงเล็กน้อยหรือไม่ซับซ้อนนั้น อาจไม่ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตสินค้าใหม่มากนัก เนื่องจากความสามารถที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่สามารถสนับสนุนความสามารถเดิมที่มีอยู่เท่าที่ควร
จากงานวิจัยของเฮาส์แมนน์และฮิดัลโกนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีของประเทศไทยได้ นั่นคือ หากประเทศไทยอยากจะพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ อยากสร้างความมั่งคั่งให้มากกว่าที่ผ่านมา การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ผมคิดว่าปัจจุบันไทยยังไม่ชัดเจนในจุดแข็งของตัวเองว่าแท้จริงแล้วอุตสาหกรรมใดของประเทศที่เก่งที่สุด ภาครัฐเองจึงควรศึกษาอย่างจริงจังเพื่อค้นหาอุตสาหกรรมซึ่งไทยเก่งที่สุด รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบเชื่อมโยงได้มากที่สุด จากนั้นต้องเร่งในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่การผลิตสินค้าที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศได้ประโยชน์มากขึ้น จากการค่อยๆ เพิ่มเติมขีดความสามารถในการผลิตใหม่เข้าไป นอกจากนี้ภาครัฐควรผลักดันเรื่องคลัสเตอร์อย่างจริงจัง เพื่อหาทางสร้างความเชื่อมโยงและประสานความสามารถที่มีของอุตสาหกรรมหนึ่งเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ไม่เพียงแต่มองเป็นรายอุตสาหกรรมเท่านั้น
ในยุคการค้าเสรีที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงมากขึ้น ถือเป็นทั้งโอกาสและจุดเสี่ยงของประเทศ หากเราไม่มีการพัฒนาและขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ปล่อยให้การพัฒนาเป็นไปตามธรรมชาติ จะทำให้ประเทศนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์จากประตูที่เปิดกว้างขึ้นแล้ว แต่อาจจะต้องเสียประโยชน์ให้กับประเทศอื่นที่เข้ามาหาประโยชน์จากเราด้วย
** นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ : 16 มีนาคม 2553