สร้าง ?อารมณ์ขัน? สร้างสุขให้ลูกรัก

     ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด แรงกดดันจากสภาพสังคมที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ตั้งแต่แรกเกิด เข้าอนุบาล มหาวิทยาลัย จนเรียนจบออกมาหางานทำ ฯลฯ  สถิติการเกิดภาวะหรือโรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่นพุ่งสูงขึ้นในแต่ละปี ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ที่ถดถอยลงอย่างน่าตกใจ  รวมทั้งการขาดทักษะการแก้ปัญหาในชีวิต อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การแก้ปัญหาในทางที่ผิดทั้งต่อตนเอง เช่นการทำร้ายตนเอง ฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายผู้อื่นและนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งในสังคมมากมายตามมา

     จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าจะมีวิธีใดที่สามารถทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมานั้นมีทัศนคติมุมมองความคิดต่อเหตุการณ์หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์ในทางบวก และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ในทุกวัน สามารถเผชิญหน้ากับความผิดพลาดล้มเหลวในชีวิตได้อย่างเข้มแข็งและท้าทายให้ตนเองนั้นลุกขึ้นใหม่ได้ทุกครั้งในยามที่ล้มลงจากอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ

     งานวิจัยจำนวนมากกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อารมณ์ขัน (Humor)  หรือ อารมณ์สนุกสนาน ตลกขบขัน เป็นอารมณ์หนึ่งที่สำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกจนถึงผู้เฒ่าวัยชรา ทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย อาทิ  กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยการเจริญเติบโตในเด็ก  การเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี ลดภาวการณ์เกิดโรคซึมเศร้าและโรคเครียดในชีวิต คนที่มีอารมณ์ขันเป็นนิสัยมักจะเป็นที่รักของคนรอบข้าง เป็นคนที่มีเสน่ห์ ใครเห็นใครรักอยากเข้าใกล้เพราะรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ  ครอบครัวที่มีอารมณ์ขันเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะมักมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและมีความขัดแย้งน้อยกว่าครอบครัวที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด 

     โดยอารมณ์ขันเป็นวิธีการเผชิญกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วยมุมมองของการคิดทางบวก เป็นการคิดในมุมกลับ (cognitive-shift) ซึ่งเป็นผลของการปรับเปลี่ยนทางอารมณ์-ปัญญาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อารมณ์ตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆ บรรเทาความรุนแรงลง (Martin, Puhlik-Doris, Larsen, Gray, & Weir, 2003)  เนซู เนซู และ บลิสเซท (Nezu, Nezu, & Blissett as cited in Martin, 1996) ได้ศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ขัน ความเครียด และภาวะสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กวัยรุ่นพบว่า ผู้ที่มีระดับอารมณ์ขันสูงจะมีความเครียดและเป็นทุกข์น้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

     ไม่เพียงเท่านี้ อารมณ์ขันยังก่อให้เกิดประโยชน์อีกมากมายสำหรับทักษะการปรับตัวการเข้าสังคมในยามที่ลูกต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในชีวิต  อาทิ  เป็นประตูสานมิตรภาพกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนแห่งใหม่ หรือเมื่อย้ายห้องเรียนใหม่ ย้ายบ้านใหม่ โดยมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียน การทำงานกลุ่มร่วมกัน  ลดความตึงเครียด ลดความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกัน การถือตนเป็นศัตรูระหว่างกัน นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นยังพบว่าผู้ที่มีอารมณ์ขันอยู่เสมอสามารถที่จะทำงานต่าง ๆ ได้อย่างบรรลุผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่ไร้อารมณ์ขันอีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากมากอาจมองว่า การมีอารมณ์ขันนั้นเป็นเรื่องของพรสวรรค์  ใช่ว่าจะสร้างได้ทุกคน หรือหากสร้างได้คงจะต้องฝึกฝนกันด้วยความยากลำบากเพราะขัดกับบุคลิกของตนซึ่งเป็นคนเคร่งขรึม บ้างก็ว่าสร้างได้โดยการเก็บมุขขำต่าง ๆ จดจำมาใช้
นอกจากนี้มีพ่อแม่จำนวนมากอาจมองถึงขนาดว่าการมีอารมณ์ขัน การพูดคุยเรื่องตลกนั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกผ่านพ้นวัยเด็กเล็กมาแล้ว เริ่มรู้ความและมีความรับผิดชอบในชีวิตเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านการเรียน การสอบเลื่อนชั้น การสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  พ่อแม่อาจเริ่มมีความรู้สึกเคร่งเครียดอาจด้วยความเป็นห่วงในอนาคตของลูกและเริ่มมีทัศนคติว่า “ชีวิตเป็นเรื่องที่จริงจัง” ต่อลูกมากขึ้น โดยมองว่าการใช้ชีวิตต้องมีความจริงจัง ทุกสิ่งต้องเป็นสาระทั้งคำพูด การกระทำ จะทำมาเป็นล้อเล่นไม่ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองอย่างเอียงข้างขาดความสมดุล นอกจากนำมาซึ่งความตึงเครียดในครอบครัวแล้วยังส่งผลต่อช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นตามมา

     แท้จริงแล้วการมี “อารมณ์ขัน” ไม่ได้เป็นพรสวรรค์ที่เป็นมาตั้งแต่เกิดเป็นบุคลิกเฉพาะตัวแต่อย่างใด อารมณ์ขันไม่ได้เกิดจากการสะสมหรือฝึกฝนการใช้มุกตลกด้วยเช่นกัน แต่อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากทัศนคติมุมมองเชิงบวกภายในที่มีต่อตนเอง เหตุการณ์ หรือบุคคลต่าง ๆ อารมณ์ขันไม่ใช่สิ่งไร้สาระในชีวิตในทางกลับกันอารมณ์ขันเป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและทำให้คนรอบข้างมีความสุขต่างหาก 

     พ่อแม่เสริมสร้างอารมณ์ขันให้แก่ลูกได้อย่างไร 
อารมณ์ขันที่แท้จริงที่หล่อหลอมเป็นบุคลิกชีวิตของคน ๆ หนึ่งนั้นไม่ได้เกิดจากการฝึกฝนเล่าเรื่องตลกโปกฮาแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกอารมณ์ขันภายนอก แต่การสร้างอารมณ์ขันจากภายในนั้นเกิดจากการฝึกทัศนคติมุมมองความคิดเชิงบวก จนเป็นนิสัยจากสู่การแสดงออกภายนอก   โดยทัศนคติมุมมองความคิดที่พ่อแม่เองควรฝึกฝนอยู่เป็นประจำ อันเป็นแบบอย่างที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้นได้แก่การ  “ฝึกค้นหาสิ่งดีของสิ่งต่าง ๆ” อาทิ 

     สอนให้ลูกค้นหาสิ่งดีในตนเอง  ค้นหาสิ่งดีที่มีอยู่ของตนเอง แม้ว่าสิ่งนั้นจะดูเหมือนตรงกันข้ามกับกระแสค่านิยมของสังคมบางด้านก็ตาม  อาทิ  กระแสสังคมปัจจุบันนิยมคนที่มีรูปร่างผอมเพรียว แต่หากลูกของเราเป็นคนอ้วนตุ้ยนุ้ยแต่กำเนิด ลดอย่างไรก็ไม่ลง พ่อแม่ควรพูดให้กำลังใจลูกไม่ให้เครียด เสียใจ หรือหมดความมั่นใจ ดูถูกตนเอง และชี้นำช่วยลูกค้นหาสิ่งดีที่ตัวลูกเองมีอยู่นั้นให้พบ เช่น  ถึงแม้จะอ้วน แต่ลูกเป็นคนที่หน้าตาจิ้มลิ้มน่ารักรวมทั้งแข็งแรงมากไม่เจ็บป่วยง่าย ๆ  หากเกิดภาวะสงคราม หรืออากาศหนาวจัดขึ้นมา คนอ้วนย่อมมีพลังงานสะสมทำให้ร่างกายอบอุ่น และมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่าเพื่อนคนที่ผอมที่ไม่มีพลังงานสะสม หรือหากเกิดอุบัติเหตุหกล้มคนอ้วนย่อมมีเบาะหรือห่วงยางประจำตัวรอบเอวและสะโพกทำให้เจ็บตัวน้อยกว่าคนผอม เป็นต้น

     สอนลูกให้ค้นหาสิ่งดีของคนรอบข้าง  ค้นหาสิ่งดีของคนรอบข้างต่าง ๆ อาทิ เพื่อนฝูง พี่น้อง พ่อแม่ ฯลฯ ให้พบ โดยสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีทั้งสิ่งดีและสิ่งเลว เพื่อนที่ดูเหมือนนิสัยไม่ดีของเราอาจมีสิ่งดีบางอย่างที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้ และเราต้องพยายามค้นหาให้พบ อาทิ  เพื่อนที่โรงเรียนชอบเอาเปรียบเราเรื่อยในการชอบมาสายหรือโยนงานมาให้เราทำ อย่างไรก็ตามเขาก็ยังมีส่วนดีคือชอบพาเราไปเลี้ยงข้าวหรือซื้อขนมมาตอบแทนเราเป็นประจำ  พี่สาวเป็นคนอารมณ์ร้อนชอบดุเราอย่างไม่มีเหตุผล แต่เมื่อคิดได้ว่าทำไม่ดีกับน้องก็มักซื้อขนมอร่อย ๆ มาปลอบใจเราอยู่เสมอ 

     สอนลูกให้ค้นหาสิ่งดีของเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเลวร้าย ความผิดพลาดล้มเหลวต่าง ๆ   ดังตัวอย่างจากภาพยนตร์อิตาลีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมากมีชื่อเรื่องว่า  “Life is beautiful”   ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์จากนานาชาติมากแล้วมากมาย โดยเนื้อเรื่องได้กล่าวถึงพ่อชาวยิวคนหนึ่งที่ทั้งตนเองพร้อมลูกน้อยได้ถูกจับไปเป็นเชลยในค่ายของทหารนาซีเพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Holocaust) ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

     ในสถานการณ์สงครามที่ดูเหมือนเลวร้ายสุด ๆ ไร้ซึ่งความหวังใด ๆ แต่พ่อชาวยิวผู้นี้พยายามปกป้องและสอนลูกของตนอย่างเต็มที่ในการรักษาทัศนคติในการมองโลกด้านดีเอาไว้ สอนให้ลูก  มองเห็นความสุข ความสนุกสนานในค่ายกักกัน พยายามตอบสนองเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ให้ดูเหมือนเป็นเกมการละเล่น ทำเป็นเรื่องตลกขบขันเพื่อลูกสามารถหัวเราะได้ แม้ในวาระสุดท้ายที่ตัวพ่อเองต้องเดินไปสู่ความตายก็ตาม  โดยสิ่งที่พ่อทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการให้ลูกมีทัศนคติมุมมองเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความหวังมีพลังที่จะเดินหน้าต่อไป แม้สถานการณ์จะดูเหมือนเลวร้ายมากเพียงใดก็ตาม

     นอกจากนี้พ่อแม่ควรสอนลูกให้ค้นหาสิ่งดีที่ซ่อนอยู่ในความผิดพลาดล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นว่าไม่มีใครที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบที่ไม่เคยทำผิดพลาดหรือล้มเหลวเลย ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญกับความผิดพลาดล้มเหลวบ้างไม่มากก็น้อย  ความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าเมื่อลูกเผชิญหน้ากับความผิดพลาดล้มเหลวที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น ลูกตอบสนองต่อมันอย่างไร ซึ่งหากตอบสนองด้วยทัศนคติเชิงลบ ด่าว่าตัดพ้อตัวเอง ผลที่ตามมาคือการบั่นทอนจิตใจ เราอาจท้อถอยหรือล้มเลิกกลางครันทำให้งานที่ทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้

     อย่างไรก็ตามหากลูกตอบสนองในทางตรงกันข้ามด้วยการหาสิ่งดีจากความผิดพลาดล้มเหลวที่ซ่อนอยู่ แม้ดูเหมือนว่าความผิดพลาดนั้นไม่น่าที่จะให้อภัย การตอบสนองที่ถูกต้องของเราย่อมส่งผลต่อชีวิตที่จะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมีความหวังและประสบความสำเร็จในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น  หากลูกทำงานกลุ่มร่วมกันกับเพื่อนแล้วเผอิญเผลอลบไฟล์สำคัญบางอย่างไปโดยไม่สามารถกู้กลับมาได้ ส่งผลให้กลุ่มของเราต้องทำงานใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น  หลังจากที่ยอมรับผิดและขอโทษทำความเข้าใจกับเพื่อนในกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ลูกไม่ควรนำมาคิดแง่ลบบั่นทอนตัวเองทำให้หมดแรงที่จำทำงานอื่น ๆ อีกต่อไป แต่ควรคิดว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบทเรียนสำคัญที่เราจะไม่ทำผิดอีกต่อไป  หากเพื่อน ๆ ยังคงโกรธเราอยู่ในวันนี้  หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปเขาอาจยอมคืนดีกับเรา   หนึ่งเดือนผ่านไปมันจะกลายเป็นเรื่องขำ ๆ ที่นำมาล้อเลียนกัน  หนึ่งปีผ่านไปมันจะกลายเป็นตำนานที่ใคร ๆ ก็ตามเมื่อได้ยินเรื่องนี้ย่อมนึกถึงเรา ทุกคนจะจำเราได้ ไม่จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ตัวเองแต่อย่างใด   เป็นต้น 

     อารมณ์ขันนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวซึ่งนอกจากเป็นสายใยในการเชื่อมต่อดึงดูดทุกคนเข้าหากันอย่างมีความสุขแล้วยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางอารมณ์ให้แก่ลูกของเราในการเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างมีความสุขรู้เท่าทันและมีชัยชนะ

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
นิตยสารแม่และเด็ก
เมื่อ: 
30/11/2009