ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2553

     เวลาอีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2553 แล้ว แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้มอย่างไรนั้น มีหลายหน่วยงานได้ประเมินและเสนอรายงานการวิเคราะห์ออกมา ในบทความนี้ผมจะแสดงความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ซึ่งมุมมองของผมต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีดังนี้

1. ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 2553
 
     หากพิจารณาปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2553 เราจะพบว่า ปัจจัยบวกที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในปี 2553 ได้แก่

     เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกอาจกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้นในปีข้างหน้า เห็นได้จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงไตรมาสที่ 2 เทียบกับไตรมาสที่ 3 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 0.9 (จากหดตัว ร้อยละ -0.2) ญี่ปุ่น ขยายตัว ร้อยละ 1.2 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ต่อเนื่องจากการขยายตัว ร้อยละ 0.6 ไตรมาสก่อน ส่วนจีนนั้นเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยในไตรมาส 3 ปี 2552 ขยายตัวถึงร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
นโยบายภาครัฐสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รัฐบาลตั้งงบเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2553 ไว้ในโครงการไทยเข้มแข็งถึง 3.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น เช่น โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่อาจช่วยบรรเทาภาระหนี้ของประชาชนให้เบาลง ทำให้การบริโภคและการลงทุนปีหน้าอาจดีขึ้นบ้าง

     ส่วนปัจจัยด้านลบที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่

     ปัญหามาบตาพุด แม้ว่าศาลปกครองจะอนุญาตให้ 11 โครงการ จาก 76 โครงการที่เคยถูกระงับไว้สามารถดำเนินการได้ แต่ปัญหายังคงมีตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาก๊าซรั่วที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้จะกระทบต่อการลงทุนในปัจจุบันและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในอนาคต

     สถานการณ์ทางการเมืองยังคงไร้เสถียรภาพ รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ จึงพยายามประคองสถานการณ์ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามดิ้นรนให้พ้นผิด จึงพยายามใช้วิธีการสร้างความแตกแยกในรัฐบาลและในประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยวในปี 2553
อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มเกินดุลจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าการนำเข้า ประกอบกับเงินทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง

     ราคาน้ำมันในปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจาก อุปสงค์ต่อน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนบางส่วนลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐและหันมาถือครองสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำและน้ำมัน เพื่อการเก็งกำไรเพิ่มมากขึ้น

2. การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจปี 2553

     อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทำให้อุปสงค์ในการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นตาม ประกอบกับต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ และน้ำมันดิบที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นต้น

     การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจาก มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ส่งผลหักล้างกัน โดยปัจจัยบวกเห็นได้จากดัชนีด้านการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นอีก ทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือการจัดเก็บภาษีมูลค่าที่ขยายตัวขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้การว่างงานที่เริ่มลดลงและมาตรการช่วยเหลือของรัฐ เช่น การแก้หนี้นอกระบบ หรือ การประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น ที่ช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่ทำให้การบริโภคไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ได้แก่ แนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัจจัยบวกจะมีผลมากกว่า ซึ่งจะมีผลทำให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 2553 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552

     การลงทุนภาคเอกชนจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะแม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นและแรงมีผลักจากนโยบายของรัฐบาลในโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ยังมีปัจจัยด้านลบที่กระทบต่อการลงทุน นั่นคือ ปัจจัยทางการเมือง แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและปัญหามาบตาพุดที่ยังคงต้องรับการแก้ไข

     การส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ค่อยฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าขึ้น แต่เป็นการแข็งค่าขึ้นที่เกาะกลุ่มกับภูมิภาค จึงไม่กระทบการส่งออกมากนัก
เศรษฐกิจปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 เนื่องจาก การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากวิกฤติเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าอาจมีปัจจัยเรื่องการเมือง รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาฉุดการบริโภคและการส่งออกบ้างก็ตาม

3. สรุปและข้อเสนอแนะการจัดการเศรษฐกิจปี 2553

     ในระยะสั้น ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการลดต้นทุนการผลิตที่อาจเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้น เช่น การสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต หรือการผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบขนส่งมวลชน ระบบน้ำ ระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น เนื่องจากการก่อสร้างโครงการเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการจ้างงานอย่างต่อเนื่องด้วย

     นอกจากนี้ยังควรร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องได้รับผลกระทบมากนัก เช่น การพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินลงทุนระยะสั้นอย่างเจาะจงและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม เป็นต้น

     ในระยะยาว ประเด็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซลหรือก๊าซโซฮอล์เพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นนั้น จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต การพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดทุน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และมีความสามารถในการปรับตัวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดียิ่งขึ้น

admin
เผยแพร่: 
กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
เมื่อ: 
15/12/2009