ศูนย์เรียนรู้ทางการวิจัย
ในปี 2551 มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า ไทยจะมีศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ คือ ศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัย (Center of Research Learning) ซึ่งในขณะนี้อยู่ในช่วงที่สภาวิจัยแห่งชาติกำลังศึกษาความเป็นไปได้ วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และรวบรวมเอาผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์มาจัดแสดง ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยนักคิด และนักประดิษฐ์ ในการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยของตนก่อนนำเสนอสู่ประชาชน อีกทั้ง ยังอาจการกระตุ้นเยาวชนไทยให้หันมาสนใจที่จะเป็นนักวิจัยมากขึ้น กรณี
ประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าวมานานแล้วอาทิ
ประเทศญี่ปุ่น: พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์แห่งชาติ (National Museum of Ethnology) เมืองโอซากา
เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับมนุษยชาติและเผ่าพันธุ์ จัดแสดงผลงานวิจัยนอกจากจะจัดในสถานที่เฉพาะแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังได้ให้บริการข้อมูลงานวิจัยผ่านอินเทอร์เน็ตอีกด้วย และมีจัดแสดงนิทรรศการที่เป็นหัวข้อเฉพาะจากงานวิจัยเป็นครั้งคราว แต่สิ่งที่ศูนย์ฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การรับใช้สังคม โดยการถ่ายทอดผลงานวิจัยชิ้นใหม่ ๆ ออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดสัมมนา การฉายภาพยนตร์ ฯลฯ
การทำงานของศูนย์ฯนี้ จะเป็นในลักษณะการสร้างความร่วมมือกับศูนย์การเรียนรู้อื่น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เข้าถึงประชาชน และมีผลงานวิจัยใหม่ ๆ มานำเสนอเป็นประจำ
ประเทศฝรั่งเศส: ศูนย์การเรียนรู้ปอมปิดู (Pompidou Centre)
ก่อตั้งเมื่อปี 2520 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยศูนย์ฯ นี้ จะทำการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมของชาติ ที่รวบรวมไว้ถึง 150,000 นวัตกรรม มีห้องสมุดสาธารณะบรรจุหนังสือ 400,000 เล่ม ผู้ใช้บริการสามารถทราบข้อมูลและเรียนรู้ผ่านระบบไร้สาย (WiFi) โดยเชื่อมโยงกับเครื่อง PDA (Personal Data Assistant) คอมพิวเตอร์แบบพกพา (Computer Notebook) นอกจากนี้ ผู้สนใจยังสามารถรับชมการนำเสนอผลงานวิจัยใหม่ ๆ และกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ในสาขาต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และสื่อโทรทัศน์ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น
ความน่าสนใจของศูนย์การเรียนรู้ปอมปิดู คือ มีกิจกรรมให้ผู้ชมเกิดความสนใจและต้องการติดตามข้อมูลจากศูนย์ฯ ผ่านการสื่อสารที่มีปฏิสัมพันธ์ กิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงดนตรีหรือศิลปะนานาชาติ การให้คำปรึกษาด้านวิจัย การฝึกอบรมและสัมมนาในประเด็นที่สังคมสนใจ การฉายภาพยนตร์ เป็นต้น
สหรัฐอเมริกา: ศูนย์เรียนรู้และวิจัยกีฏวิทยา (Research - Museum of Entomology)
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 เป็นศูนย์แสดงผลงานวิจัยและพิพิธภัณฑ์ด้านแมลง อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ภารกิจหลักคือการศึกษาวิจัย รวบรวมผลงานวิจัย และถ่ายทอดให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชม ภายในศูนย์ฯ ผู้เข้าชมมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์จริง ในการเป็นนักวิจัย เช่น บรรยากาศการวิจัยในห้องปฏิบัติการของนักวิจัย เรียนรู้เครื่องมือวิจัยต่าง ๆ ของนักวิจัย เป็นต้น นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังได้จัดห้องสมุดวิจัยรวบรวมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวบรวมผลงานวิจัยของนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีการสร้างเครือข่าย เพื่อให้งานวิจัยมีผลต่อภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมยา ภาคการเกษตร ชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม และสถาบันการศึกษา เป็นต้น
การประยุกต์สู่ประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์การเรียนรู้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนอยู่หลายศูนย์ เช่น ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park)เป็นต้น ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ยังมีข้อด้อยบางด้าน ทำให้ไม่สามารถรับใช้สังคมได้เต็มที่ อาทิ การตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลทำให้ผู้เข้าชมมีไม่มากนัก ทั้งยังขาดกิจกรรมส่งเสริมที่จูงใจให้ติดตาม และขาดการนำเสนอความรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลายส่งผลให้องค์ความรู้ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เท่าที่ควร
ดังนั้น หากสภาวิจัยแห่งชาติจะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยขึ้นในปี 2551 ควรมีมาตรการลดปัญหาหรืออุปสรรคเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมเสนอแนวทางพัฒนาศูนย์การเรียนทางวิจัย โดยนำจุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 3 ประเทศมาปรับใช้ ดังนี้
เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยที่เน้นการสร้างความร่วมมือ นอกจากที่ศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยจะสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิจัยอิสระที่อยู่ในประเทศแล้ว ควรร่วมมือกับภาคเอกชน หรือสถาบันวิจัยในต่างประเทศด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนและนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมานำเสนอในประเทศไทย และประเทศไทยยังสามารถนำผลงานวิจัยที่ริเริ่มโดยคนไทยไปจัดแสดง เช่น ประเทศเยอรมัน เป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม และมีโดดเด่นในด้านการวิจัยและพัฒนาประเทศหนึ่งของโลก จากการสำรวจเมื่อปี 2543 พบว่า มีบริษัทที่มีกิจกรรมวิจัยและพัฒนากว่า 1 หมื่นแห่ง อีกทั้งยังมีองค์กรวิจัยที่มีความหลากหลาย อาทิ Max Planck Gesellschaft (MPG) เป็นองค์กรเอกชนที่สนับสนุนการวิจัยเชิงสหวิทยาการ The Fraunhofer Gesellschaft (FhG) เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายสถาบันวิจัยกว่า 56 แห่ง ผลิตงานวิจัยเชิงประยุกต์ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา The Helmsholtz-Gesellschaft Deutscher Forschungszentren (HGF) เป็นสมาคมที่มีสมาชิกสถาบันวิจัย 15 แห่ง ผลิตงานวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ ชีวการแพทย์ และการวิจัยอื่นที่สนับสนุนอุตสาหกรรม
เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพอาชีพนักวิจัย นอกจากที่ศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยจะสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิจัยของคนกลุ่มต่าง ๆ อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมยอมรับอาชีพนักวิจัยมากนัก ดังนั้น ศูนย์ ฯ ควรมีกลไกที่ช่วยยกระดับนักวิจัยให้มีคุณภาพร่วมด้วย โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยที่พัฒนานักวิจัย มีการจัดอบรม หรือจัดประชุมสัมมนาในกลุ่มนักวิจัย เปิดให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่นักวิจัย นอกจากนี้ ควรจัดดึงนักวิจัยนอกระบบเข้าสู่ระบบ เช่น ปราชญ์ท้องถิ่น นักวิจัยอิสระ เป็นต้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือสู่แวดวงการวิจัย
เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัยที่ทันต่อเหตุการณ์ การที่ประชาชนจะติดตามกิจกรรมของศูนย์ฯ ได้นั้น จำเป็นต้องมีกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจ ซึ่งสิ่งที่ศูนย์ฯ ควรดำเนินการ คือ การจับประเด็นกระแสที่ประชาชนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ(IPCC) องค์กร ACACIA หรือองค์กรที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกโดยรวม เป็นต้น เช่น ภาวะโลกร้อน ปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำงานวิจัยมาเป็นคำตอบให้แก่สังคมได้ โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานที่ทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้โดยเฉพาะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ศูนย์อุตุนิยมวิทยา ศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการศึกษาและเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกระหว่างประเทศ
เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยที่ให้บริหารประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อลดข้อจำกัดของศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัย การก่อตั้งศูนย์ฯ ควรจัดหาสถานที่ที่มีความสะดวกในการเดินทางมาเยี่ยมชมของประชาชน และมีเว็บไซต์ที่ประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ระบบการสืบค้นแบบห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลงานวิจัยใหม่ ๆ หรือกิจกรรมที่ทางศูนย์ฯ ได้จัดขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้แก่ผู้ที่อยู่ห่างไกล
ศูนย์การเรียนรู้ทางวิจัยในอนาคต ไม่ควรเป็นเพียงศูนย์ที่รวบรวมผลการวิจัยแบบเดิม แต่ควรเป็นศูนย์ที่สามารถดึงดูดคนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มผู้สนใจให้หันมาสนใจงานวิชาการและงานวิจัยมากขึ้น โดยเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพ และสามารถดึงเอางานวิจัยจากต่างประเทศเข้ามานำเสนอในประเทศไทย เพื่อให้นักวิจัยไทยสามารถนำมาต่อยอดองค์ความรู้และใช้ประโยชน์ได้
Tags:
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์เม็งราย
เมื่อ:
2007-08-01