เร่งผูกสัมพันธ์บราซิล กู้เศรษฐกิจไทย

บราซิลเป็นประเทศที่ผมได้คาดการณ์นานกว่าสิบปีแล้วว่า จะเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจ และได้แนะนำให้ประเทศไทยทำความรู้จักและสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับประเทศนี้ให้มาก แต่จนถึงขณะนี้ บราซิลยังคงเป็นประเทศที่เราไม่รู้จักเท่าที่ควร...น่าเสียดายยิ่ง หากเราทิ้งโอกาสนี้ไปอีกครั้ง

บราซิลเป็นหนึ่งในสี่ของกลุ่มประเทศ ldquo;BRICrdquo; ประกอบด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งได้รับการคาดหมายว่า 4 ชาตินี้จะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก บราซิลมีประชากรเกือบ 300 ล้านคน เป็นประเทศที่ใหญ่มาก มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน และมีความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เป็นประเทศที่เรียกได้ว่า พร้อมสำหรับอนาคต

ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากบราซิล เพื่อไปเยี่ยมชมกิจการต่าง ๆ ได้มีโอกาสเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล นักวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนักธุรกิจรายใหญ่ ได้เยี่ยมชมหน่วยงานต่าง ๆ ผมได้นำเสนอประเทศไทยให้นักลงทุนเหล่านี้เห็นศักยภาพในการมาลงทุนในประเทศไทยด้วยเพราะต้องยอมรับว่าคนบราซิลยังไม่รู้จักประเทศไทยดีนัก ผมได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในหลากหลายด้านของประเทศบราซิลที่มาจากการมีวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ เพราะเป็นการดำเนินการที่มีการวางแผนระยะยาวและหลายเรื่องได้เริ่มดำเนินการมาหลายสิบปีแล้ว สิ่งที่ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย อาทิ

ความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเรื่องเอทธานอล จากอ้อย บราซิลมีความชำนาญมาก เนื่องจากบราซิลเป็นประเทศที่มีวิสัยทัศน์ เป็นประเทศแรก ๆ ที่ลงทุนอย่างจริงจังเพื่อใช้พลังงานเอทธานอล ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน และในปัจจุบันเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว บราซิลได้นำอ้อยมาเป็นพลังงานเอทธานอลสำหรับใช้กับรถยนต์ โดยเทคโนโลยีการทำนั้นสามารถทำให้ไม่มีของเสียเหลือเลย คือเป็น zero waste เวลานี้รถยนต์ที่บราซิลใช้เอทธานอลเกือบทั้งหมด โดยจำหน่ายลิตรละประมาณ 18 บาท ขณะที่น้ำมันเบนซินแพงกว่าสองเท่า รถยนต์ที่ขายในบราซิลส่วนใหญ่จึงเป็นรถแบบ flex คือใช้ทั้งเอทธานอลหรือน้ำมันธรรมดาก็ได้

ผมได้ไปเยี่ยมชมหน่วยงานวิจัยและพัฒนาแห่งหนึ่ง ซึ่งพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากอ้อยให้ได้มากที่สุดอย่างครบวงจร โดย 1) ทำเป็นน้ำตาล 2) ทำเป็นเอทธานอล 3) ทำเป็นไบโอดีเซล 4) ทำเป็นพลาสติก 5) นำกากอ้อยทำเป็นพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการทำวิจัยเพื่อหาวิธีเพิ่มผลผลิตอ้อยจากเดิม 2-3 เท่า และทำวิจัยว่าจะนำชานอ้อยมาทำเป็นเอทธานอลระดับสอง ระดับสาม เพื่อพยายามใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดได้อย่างไร

ความสำเร็จในการผลิตเอทธานอลของบราซิล นับเป็นโอกาสที่ดีของการพัฒนาพลังงานทางเลือกในประทศไทย ผมได้พูดคุยกับนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบราซิลเพื่อให้เขาสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเขาให้ความสนใจเป็นอย่างดี แม้ขณะนี้ ยังไม่มั่นใจในเสถียรภาพการเมืองไทยมากเท่าใดนัก

ความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา บราซิลมีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนยีอย่างมาก มีหน่วยงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หน่วยงานวิจัยด้านไอทีแห่งหนึ่งที่ผมได้ไปเยี่ยมชม มีเทคโนโลยีการใช้บัตรที่ไม่ใช่แถบแม่เหล็กในการตัดเงินสำหรับโทรศัพท์สาธารณะที่สามารถดูแลรักษาได้ง่าย ทำให้เขาสามารถติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะได้ทั่วถึงทั้งประเทศแม้ในที่ห่างไกล เทคโนโลยีด้านโทรศัพท์สำหรับคนหูหนวก โดยแปลงสัญญาณเสียงมาเป็นตัวอักษรเพื่อให้คนหูหนวกอ่านได้ ได้เยี่ยมชมอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ฝังชิพในวัวทุกตัว โดยมีหลายวิธี เช่น ติดที่หู ให้กลืนเข้าไปตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้รู้ว่าวัวตัวนั้นไปไหน บริโภคอะไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกวัวไปยุโรป ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องอาหาร และผมเชื่อมั่นว่าอีกไม่เกิน 2 ปี สินค้าทุกชิ้นในบราซิลจะฝังชิพ ทำให้รู้ข้อมูลทั้งหมด เช่น รู้ว่าสินค้าผลิตที่ไหน เมื่อไร ขายไปไหน ฯลฯ

ที่สำคัญ งานวิจัยที่เกิดขึ้นจะมีการนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ โดยที่บราซิลจะมีศูนย์ที่เรียกว่า Incubator หรือที่ฟักบ่มธุรกิจ อยู่หลายแห่ง โดยจะนำงานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ มาสำรวจความเป็นไปได้ว่า สามารถนำมาดำเนินการทางธุรกิจหรือเอามาตั้งเป็นบริษัทได้หรือไม่ และคนที่ต้องการทำธุรกิจจะมาฝังตัวอยู่ในอินคิวเบเตอร์นี้ประมาณ 4-5 ปี และพอเข้าที่แข็งแรงก็ออกไปเปิดบริษัท หน่วยงานประเภทนี้ช่วยทำให้เกิดการเพาะบ่มธุรกิจที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ นวัตกรรมทางการผลิตที่มาจากห้องแลปหรือมาจากงานวิจัย กลายเป็นธุรกิจต่าง ๆ ต่อยอดขึ้นมาจำนวนมาก

ความก้าวหน้าด้านวิจัยและพัฒนา นับเป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและมหาวิทยาลัยในบราซิล มหาวิทยาลัยบราซิลหลายแห่งติดอันดับ 1 ใน 100 ของโลก ผลิตผลงานวิจัยออกมาจำนวนมาก ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ชวนเขาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี แลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งเขาเต็มใจและสนใจมาก ผมจะเซ็นต์ตอบ MOU เพื่อความร่วมมือนี้ในไม่ช้า


ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องรู้จัก เรียนรู้ และร่วมมือกับประเทศบราซิลให้มากขึ้น โดยสิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการในเบื้องต้น ได้แก่

การตั้งศูนย์บราซิลศึกษาในประเทศไทย ผมคิดว่า เรื่องแรกที่เราควรทำทันที นั่นคือ การตั้งศูนย์บราซิลศึกษาในประเทศไทย โดยเป็นศูนย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยรู้จักบราซิลมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่รู้จัก เราจะไปทำธุรกิจ ค้าขาย แลกเปลี่ยนความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ ได้ยาก ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการตั้ง ศูนย์ไทยศึกษา ขึ้นในประเทศบราซิล เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา การศึกษา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ฯลฯ

ส่งเสริมภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีสเป็นภาษาทางเลือก ปัจจุบันในโรงเรียนหลายแห่งมีภาษาที่สามให้เลือกเรียน อาทิ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาจีน แต่ผมคิดว่าควรเพิ่มภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีส เป็นภาษาทางเลือกอีกหนึ่งภาษา โดยการรู้ภาษาภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีส จะทำให้สื่อสารกับประเทศโปรตุเกสได้ ขณะเดียวกันยังทำให้สื่อสารกับประเทศที่ใช้ภาษาสเปญเช่นประเทศในอเมริกาใต้ได้อีกถึงระดับหนึ่ง และที่สำคัญการใช้ภาษาบราซิเลี่ยน-โปรตุกีสจะเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยในการเรียนรู้จักประเทศบราซิลให้ดียิ่งขึ้น และควรมีการสอนภาษานี้ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อเป็นเส้นทางแห่งโอกาสให้กับอนาคตของประเทศต่อไป

การจับมือเป็นมิตรและรู้จักกับบราซิลให้มากขึ้น เป็นเส้นทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตแห่งนี้บ้าง ผมได้รับการขอร้องจากหน่วยการการลงทุนของประเทศบราซิลให้ผมเป็นตัวกลางในเรื่องการค้าและการลงทุน และความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ในประเทศบราซิลกับประเทศไทย ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กับประเทศไทยมากและผมยินดีทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานให้เพื่อมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเรากระเตื้องขึ้นในระยะยาวได้บ้าง

admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
เมื่อ: 
2009-10-20