บทเรียนสหรัฐอเมริกา เปิดหลักสูตรสายอาชีพตามความต้องการตลาดแรงงาน

.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

ปัจจุบันไทยมีความต้องการแรงงานระดับอาชีวศึกษาอย่างมาก จากผลการศึกษาความต้องการกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขาดแคลนกำลังคนระดับกลางหรือระดับปฏิบัติการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้จบระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งกว่าร้อยละ 75 ของผู้จบการศึกษาระดับนี้ เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี นอกจากนั้น ผู้จบการศึกษาใหม่ ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตรงลักษณะงาน โดยสถานประกอบการส่วนใหญ่ ต้องฝึกอบรมต่ออีกอย่างน้อย 3-6 เดือน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเพิ่มมากขึ้น

จากโครงการวิจัย ldquo;แผนพัฒนากำลังคนของประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศrdquo; โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุนการศึกษาสายสามัญอย่างไม่จำกัดและละเลยการศึกษาสายอาชีพ ส่งผลให้ผู้เข้าศึกษาต่อสายอาชีพลดลง จากการวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ ได้คำนวณตัวเลขประมาณการผู้สำเร็จการศึกษา ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานระหว่างปี 2550-2559 พบว่าทุกปีจะมีจำนวนแรงงานจากทุกระดับการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น โดยแรงงานระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด หากพิจารณาปริมาณความต้องการตลาดแรงงานโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนความต้องการแรงงานระดับอาชีวศึกษามากกว่าแรงงานระดับปริญญาตรี พิจารณาจากตัวเลขความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมปี พ.ศ. 2550-2554 ตลาดแรงงานต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่ม 33,255 คน ในขณะที่ต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีเพิ่มจำนวน 21,797 คน และใน 5 ปีหลัง (2555-2559) ตลาดแรงงานต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่ม จำนวน 26,213 คน ต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีเพิ่มจำนวน 17,245 คน ดังนั้น จึงต้องเร่งผลิตกำลังคนสายอาชีพ กำลังคนระดับกลางหรือระดับปฏิบัติการที่มีคุณภาพที่มีคุณภาพและสอดคล้องตามความต้องการตลาดแรงงาน

บทความนี้ เสนอตัวอย่างกรณีศึกษาของวิทยาลัยชุมชน (community collage) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวิธีการวิเคราะห์หาความต้องการหลักสูตรและโปรแกรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และประสบความสำเร็จ ในการผลิตกำลังคนสายอาชีพ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีวิทยาลัยชุมชนประมาณ 1200 แห่ง มีผู้เรียน 6.5 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นวิทยาลัยที่มีคนหลากหลายเข้าเรียน มีโปรแกรมกว่า 3,200 โปรแกรม โปรแกรมสำคัญ คือ โปรแกรมพัฒนาสายอาชีพทักษะฝีมือแรงงานป้อนสู่ตลาดแรงงาน โดยมีผู้เข้าเรียนสายอาชีพมากกว่าครึ่งของผู้เรียนทั้งหมดในวิทยาลัยชุมชน

แนวทางที่วิทยาลัยชุมชน สามารถพัฒนาและจัดหลักสูตรตอบสนองความต้องการตลาดแรงงาน คือ มีระบบวิเคราะห์หาความต้องการแรงงานในตลาดแรงงาน อาทิ

วิทยาลัยชุมชนในมลรัฐไอโอวา จะประสานงานและดำเนินงานร่วมกับตัวแทนของมลรัฐ (state) ในการวิเคราะห์หาความต้องการแรงงาน จากกลุ่มแรงงานและผู้บริหารในสถานประกอบการหลากหลายประเภท/กลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มบริการ มุ่งเน้นวิเคราะห์ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะอาชีพที่เป็นความต้องการเฉพาะในพื้นที่ โดยข้อมูลที่ได้จะมีการใช้ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและวิทยาลัยชุมชนในมลรัฐ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นฐานพัฒนาหลักสูตรและกระจายความรับผิดชอบการผลิตแรงงงานสายอาชีพได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
วิทยาลัยชุมชนในมลรัฐโอเรกอนและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานของมลรัฐ จากเจ้าหน้าที่มลรัฐ (state) ซึ่งจะเป็นผู้จัดหาและวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มอนาคตความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจและสถานประกอบการ รวมถึงความต้องการของตลาดแรงงานแต่ละภาคการผลิตและบริการในช่วงเวลาต่าง ๆ และเพิ่มเติมข้อมูลที่ทันสมัยตลอดเวลา โดยจัดส่งให้วิทยาลัยชุมชนในมลรัฐ เพื่อจัดทำหลักสูตรต่อไป

Wake Tech Community College ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ได้ใช้วิธีการจัดจ้างการให้สำนักงานตัวแทนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น 13 แห่ง เป็นผู้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลหาการเติบโตของตลาดแรงงานในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาหลักสูตรต่อไป

นอกจากนั้น วิทยาลัยชุมชนหลายแห่งจะมีคณะกรรมการที่ปรึกษา ทั้งที่เป็นคณะกรรมการทั้งภายในและภายนอกวิทยาลัย (Internal and External Advisory Committees) โดยใช้วิธีไปเยี่ยมและขอข้อมูลย้อนกลับจากกลุ่มนายจ้าง ที่ได้รับผู้ที่จบจากวิทยาลัยหรือผู้ที่อยู่ช่วงกำลังศึกษาอยู่
ตัวอย่าง Kirkwood Community College ในรัฐไอโอวา มีคณะกรรมการที่ปรึกษาภายใน 80 คน มีภารกิจในการให้ทิศทางและคำแนะนำเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการ อาชีพ ในสายอาชีพด้านสุขภาพ ธุรกิจ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม การขนส่ง และความปลอดภัย และยังมีคณะกรรมการที่ปรึกษาและผู้มีส่วนร่วมอื่นจากภายนอกอีกกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้นำในองค์กรธุรกิจและสถานประกอบการในท้องถิ่น

อีกทั้ง บางวิทยาลัยชุมชน ยังมี Skill Panels ซึ่งเป็น คณะบุคคลเฉพาะที่จัดขึ้นมา มีภารกิจในการถกเถียงและอภิปรายเกี่ยวกับความต้องการด้านทักษะแรงงานที่จะป้อนสู่ภาคธุรกิจและสถานประกอบการ โดย Skill Panels จะทำงานหนักกว่าคณะกรรมการที่ปรึกษา คือ ไม่ได้ให้ทิศทางหรือข้อเสนอแนะทั่วไปเท่านั้น แต่จะมีจัดกลุ่มอภิปราย ถกเถียง มีการวิเคราะห์ที่ละเอียด และเสนอข้อเสนอแนะด้านความต้องการ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ฯลฯ ของหลักสูตรที่แม่นตรงขึ้น

จากข้างต้นที่วิทยาลัยชุมชนในสหรัฐอเมริกา มีการหาความต้องการตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบ และมีการดำเนินงานต่อเนื่อง ส่งผลให้ วิทยาลัยชุมชนหลายแห่งมีหลักสูตรใหม่ ๆ แปลก ๆ เกิดขึ้น โดยบางวิทยาลัยสร้างใหม่ เช่น Polysomnography เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งคนอเมริกันหลายมลรัฐมีปัญหานี้มาก โดยสร้างนักเทคนิคหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับป้อนสู่สถานประกอบการด้านการพยาบาล หรือหลักสูตร Mechatronics ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานหลากหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น mechanics (งานด้านเครื่องจักรกล) hydraulics (งานเกี่ยวกับการใช้พลังน้ำในการขับเคลื่อน) และ pneumatics (งานเกี่ยวกับกำลังอัดอากาศหรือลม) หรือ ตัวอย่าง Pitt Community College ในมลรัฐ North Carolina state ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ได้มีการสร้างโปรแกรมใหม่2-3 โปรแกรมต่อปี ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและมีคนเข้าเรียนจำนวนมาก

ประยุกต์สู่การอาชีวศึกษาไทย สถาบันอาชีวศึกษาไทยที่มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ควรพัฒนาระบบวิเคราะห์หาความต้องการตลาดแรงงาน เพื่อพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องความต้องการ โดยไม่มุ่งผลิตกำลังคนและองค์ความรู้ตามความพร้อมของสถาบันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการมีคณะกรรมการที่ปรึกษาโดยเฉพาะ การสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์หาความต้องการแรงงาน เป็นต้น อีกทั้งรัฐควรพัฒนาการอุดหนุนทรัพยากรมากเป็นพิเศษ สำหรับกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษาที่ผลิตกำลังคนในสาขาขาดแคลน

นอกจากนั้น หน่วยงานรัฐและหน่วยวิชาการที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงาน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ รวมถึงหน่วยงานวิชาการที่วิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มความต้องการตลาดแรงงาน โดยร่วมวางและพัฒนาระบบป้อนข้อมูลตลาดแรงงานสู่สถาบันอาชีวศึกษาที่ชัดเจน เพิ่มข้อมูลที่ทันสมัย และอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานข้อมูลพัฒนาหลักสูตรสายอาชีพที่สอดคล้องความต้องการตลาดแรงงาน

admin
เผยแพร่: 
นิตยสารการศึกษาอัพเกรด
เมื่อ: 
2009-06-28