ข้อคิดจากการประเมินผลงานผู้ว่ากทม.
การประเมินผลงานผู้ว่ากทม.100 วัน ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้บ่งชี้ว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ยังไม่สามารถทำตามความคาดหวังของคนกรุงได้มากนัก คือ ได้คะแนนคาบเส้นผ่านมาเพียงเล็กน้อย ซึ่งต่อมาภายหลัง ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับผลโพลล์ดังกล่าว และเข้าใจว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งต่อไปคาดว่าจะให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตเป็นผู้ทำการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของคณะผู้บริหารกทม.เอง
ในฐานะนักวิชาการที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานาน ผมได้นำเสนอข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ในรายการ ldquo;คิดต่างกับดร.แดนrdquo; ประจำคลื่นสถานีวิทยุ 102 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมาว่า อยากเห็นสถาบันวิชาการเป็นเสาหลักที่เข้มแข็งเสาหนึ่งในการช่วยงานบริหารพัฒนาประเทศ ซึ่งปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมือง รักษามาตรฐานความเป็นกลาง มีความเที่ยงธรรม มีเสรีภาพและมีจริยธรรมทางวิชาการ เพราะฉะนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้โพลล์ทุกสำนักทำการสำรวจร่วมกัน แล้วนำผลที่ได้มาเทียบเคียงกัน เพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะผูกขาดอยู่ที่สำนักใดสำนักหนึ่ง เนื่องจากการสำรวจของแต่ละสำนักต่างก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน และเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้
นอกจากนี้ สถาบันวิชาการควรทำบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ในการเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนผ่านงานวิชาการ โดยเสนอให้มีการเปลี่ยนวิธีการประเมินผลใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่วัดความพึงพอใจของประชาชนเท่านั้น แต่อยากให้มีการประเมินผลการทำงานจริงของผู้ว่าฯ เทียบกับนโยบายที่เคยให้ไว้กับประชาชนและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ โดยคำนึงและยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งอาจจะทำเป็นรายไตรมาส ราย 6 เดือน หรือรายปีก็ได้ แล้วนำผลที่ได้ไปประกาศหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เช่น เวบไซต์ เช่นเดียวกับที่จะทำให้ผู้บริหารกทม.ได้รับทราบผลการทำงานจริงของตนเองเป็นระยะ ๆ เพื่อประโยชน์ในการนำไปพัฒนาปรับปรุงการทำงานของตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนคนกทม.ทั่วไปก็จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
จริยธรรมการทำงานทางวิชาการที่แท้จริงจึงอยู่ที่การเปิดกว้างทางความคิด การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และการพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดำรงรักษามาตรฐานความเป็นกลางให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันทางวิชาการเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการที่จะช่วยนำทิศนำทางสังคมต่อไป