จัดการสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไร ให้คนไทยได้ประโยชน์
จากข่าวเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ บุกแผงค้าย่านพัฒน์พงษ์ เพื่อกวาดล้างสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จนเกิดการปะทะระหว่างผู้ค้าและเจ้าหน้าที่ ได้รับบาดเจ็บหลายราย เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบตามมา ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ขาดการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทำเพียงลูบหน้าปะจมูก สร้างภาพเอาใจประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์ จนไม่สนใจประชาชน
ขณะที่ทางด้านรัฐบาล ยืนยันว่า จะต้องปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตาม
ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ ldquo;ล้าหลังrdquo; ในการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แลแม้วันนี้ดูเหมือนจะตื่นตัวมากขึ้น แต่หากรัฐบาลใช้วิธีการ ldquo;ปราบปรามrdquo; เป็นหลัก ย่อมเท่ากับตอกย้ำความล้าหลังในการจัดการ ซึ่งแน่นอนว่า จะไม่สามารถทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ลดน้อยลงไปได้
การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของทรัพย์สินทางปัญญา และต้องคิดนอกกรอบหาวิธีการจัดการที่แตกต่างและสร้างสรรค์ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด
ยึดหลักการ..คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยหลักการแล้ว เราจำเป็นต้องยอมรับและให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพราะหากปล่อยให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ย่อมเท่ากับยอมรับให้มีการขโมย ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลเสียต่อประเทศ โดยเฉพาะคนไทยจะล้ำเส้นกันเอง ใครทำอะไรใหม่ ๆ จะถูกลอกเลียนแบบ จนทำให้ไม่มีแรงจูงใจและไม่กล้าลงทุนสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ จะส่งผลเสียทำให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างเต็มที่ไม่ได้ ระยะยาวเศรษฐกิจจะมีปัญหา ขาดผลิตภาพ เพราะขาดการพัฒนานวัตกรรม ทำให้ต้องซื้อเทคโนโลยีและความรู้จากต่างประเทศ ไม่สามารถแข่งขันได้ กลายเป็นประเทศที่ต้องเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว
หลักการเริ่มต้น คือ ต้องยึดมั่นใจการส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และต้องสร้างบรรยากาศในสังคมส่งเสริมให้คนมีแรงจูงใจคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
ยึดหลักการ....คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค หลักที่สองจำเป็นต้องคิดถึงประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้บริโภคด้วย เพราะในมุมมองเศรษฐศาสตร์ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ผลิตสินค้า จะกลายเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในตลาด ก่อให้เกิดการผูกขาดสินค้า ผู้ผลิตสามารถตั้งราคาสูงได้เนื่องจากไม่มีคู่แข่ง ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาแพง และไม่มีทางเลือกอื่น
ตัวอย่างเช่น ยารักษาโรค ผู้บริโภคต้องซื้อยาในราคาแพง ที่ผ่านมา มีกรณีที่เกิดขึ้นที่ประเทศในแถบแอฟริกา ประชาชนที่ติดเชื้อเอชไอวีต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สาเหตุเนื่องจาก ยารักษาโรคเอดส์มีราคาแพง เพราะบริษัทผู้ผลิตยาผูกขาดเพียงรายเดียว รัฐบาลได้ต่อรองกับบริษัทผู้ผลิต โดยให้มีการยาลอกเลียนแบบเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย จนในที่สุดผู้ผลิตจึงยอมขายให้ในราคาที่ต่ำลง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมดุล ระหว่าง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กับ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ขอเสนอแนะแนวทางที่รัฐบาลควรนำไปพิจารณา เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
แทรกแซงลิขสิทธิ์สินค้าจำเป็น เราจำเป็นต้องแยกสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ ออกเป็น สินค้าที่มีความจำเป็น และสินค้าทั่วไป สินค้าที่มีความจำเป็น เช่น ยารักษาโรค จำเป็นต่อชีวิต ถ้าปล่อยให้มีการผูกขาด ประชาชนจะเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน จำเป็นต้องมีกระบวนการแทรกแซง โดยรัฐบาลขอซื้อลิขสิทธิ์ในราคาที่สมเหตุสมผล และเจ้าของลิขสิทธิ์พึงพอใจ จากนั้นเอามากระจายขายให้กับผู้ผลิตหลาย ๆ ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าในราคาที่ไม่แพง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้เงินทดแทนค่าลิขสิทธิ์ที่เสียไป ขณะเดียวกัน เจ้าของลิขสิทธิ์ยังคงมีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป
เปิดเสรีสินค้าเลียนแบบ สำหรับสินค้าทั่วไป รัฐบาลอาจส่งเสริมให้มีการเจรจา ระหว่าง บริษัทผู้ผลิตเจ้าของลิขสิทธิ์ กับ ผู้ผลิตสินค้าเลียนแบบ ให้ผู้ผลิตเลียนแบบเป็นเหมือน ldquo;สาขาrdquo; ที่ผลิตสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้าในอีกตลาดหนึ่ง ด้วยคุณภาพและราคาที่ถูกลง โดยรัฐบาลจะเก็บภาษีจากผู้ผลิตเทียมเหล่านี้ และแบ่งรายได้บางส่วนให้กับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่ตกลงกันไว้ หากเป็นเช่นนี้ย่อมเท่ากับ win-win กันทุกฝ่าย เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทน รัฐบาลไม่ต้องเสียเวลามาปราบปรามแต่ยังสามารถได้เงินภาษี ผู้ผลิตสินค้าเลียนแบบไม่ต้องหลบซ่อน และจะเกิดการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสม
ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ยอม อาจใช้วิธีต่อรองกับผู้ผลิตเพื่อให้ลดราคาให้ต่ำลง โดยใช้เงื่อนไขให้ผู้ผลิตสินค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการให้เราช่วยทำการปราบปราม ทั้งนี้ ให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีต้นทุนในการปราบ ต้องเอาเงินภาษีประชาชนมาจ้างเจ้าหน้าที่ช่วยในการปราบปรามให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ โดยที่ประชาชนในประเทศไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรมีส่วนในการร่วมรับผิดชอบด้วย
แม้ว่าข้อเสนอเหล่านี้ ยังคงเป็นเพียงแนวคิดที่ต้องลงรายละเอียดในภาคปฏิบัติ แต่หากเรามองทะลุความจำกัด ไปสู่การประสานประโยชน์ของทุกสิ่งเข้าด้วยทั้งประโยชน์ของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและผู้บริโภค มากกว่าการยึดติดเพียงนโยบาย ldquo;ปราบปราบrdquo; การจัดการปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ที่เรื้อรังมานาน ย่อมมีโอกาสจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2009-05-15