นักศึกษากลุ่มลูกค้าใหม่ของสถาบันกวดวิชา

ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พบว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐหันมากวดวิชากันมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้นักศึกษาหันไปเรียนเพิ่มจากสถาบันกวดวิชา คือ การวางรากฐานและการพัฒนาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากการศึกษาขึ้นพื้นฐานยังไม่ดีพอ ประกอบกับระบบแอดมิชชั่นได้คัดกรองเอานักศึกษาที่ไม่มีความสามารถในการเรียนสาขาวิชานั้นจริง ๆ ซึ่งเป็นปัญหามากในคณะหรือสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโยี

อย่างไรก็ตาม มีหลายมหาวิทยาลัยได้เห็นปัญหานี้และหาแนวทางในการแก้ไขเรื่องนี้ โดยหันมารับตรงมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่งได้เรียกร้องให้ปรับระบบการคัดเลือกใหม่ อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพิ่มค่าน้ำหนักในส่วนแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ (PAT 2) จากเดิมกำหนดไว้ที่ ร้อยละ 30 ขอเพิ่มเป็นร้อยละ 80-90 เพื่อคัดเลือกนักศึกษาที่มีความสามารถเข้าเรียนจริง ๆ


ถึงกระนั้นคง ต้องยอมรับว่า การที่นักศึกษาในระอุดมศึกษาหันไปกวดวิชามากขึ้น เกิดจากความอ่อนแอของการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ไม่สามารถเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ดังเห็นได้จากคะแนนสอบ แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) ปีการศึกษา 2552 และเผยผลคะแนนสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) ปีการศึกษา 2551 ของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า คะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็ม ส่วนใหญ่คะแนนอยู่ระหว่าง 20-40 คะแนน หรือเกินครึ่งเพียงเล็กน้อยในบางวิชา หากพื้นฐานทางวิชาการในระดับขั้นพื้นฐานของเด็กยังต่ำอยู่เช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนในมหาวิทยาลัย

ปรากฎการณ์การเข้ากวดวิชาของนักศึกษามหาวิทยาลัย มิได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ในประเทศอังกฤษ มีนักศึกษาปริญญาตรีจำนวนมากเข้าเรียนในสถาบันกวดวิชา ตัวเลขตั้งแต่ช่วงปีในปี ค.ศ.2007 เป็นต้นมาจากสถาบันกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ 2 แห่ง คือ สถาบันกวดวิชาอัลฟาติวเตอร์ (Alpha Tutors) กล่าวว่า มีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาเรียนในสถาบันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40 และสถาบันกวดวิชาฟลีท ติวเตอร์ (Fleet Tutors) ระบุว่า มีนักศึกษาปริญญาตรีมาเรียนเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยสาขาวิชาที่นักศึกษาเข้าไปเรียน มีทั้งวิชาพื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น รวมถึงวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดสอนอยู่แล้ว เช่น การเงิน การธนาคาร การบัญชี การตลาด เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ กฎหมาย ศิลปะ วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ภูมิศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ฯลฯ นักวิชาการด้านการศึกษาในอังกฤษได้แสดงความเห็นว่า การที่นักศึกษาต้องพึ่งสถาบันกวดวิชานั้น เนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาอย่างเพียงพอ

ความพร้อมในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ไม่เฉพาะความพร้อมในด้านทักษะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และวิชาพื้นฐานอื่น ๆ เท่านั้น แต่รวมถึงทักษะพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ การอ่าน เทคโนโลยี ฯลฯ หากนักศึกษาขาดการวางพื้นฐานในด้านเหล่านี้อย่างเพียงพอ นับเป็นอุปสรรคต่อการรับความรู้จากผู้สอน ทำให้นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มให้สถาบันกวดวิชาเพื่อปรับพื้นฐานความรู้ใหม่ และส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนที่จะจบการศึกษา อันจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติในภาพรวมอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องความเร่งศึกษาและหาแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขวิกฤตคุณภาพการศึกษาไทยอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การพัฒนาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่สามารถคัดกรองคนที่มีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอในการเข้าศึกษาต่อในคณะหรือสาขาที่ต้องการทักษะด้านนี้ในระดับสูง อีกทั้งมีมาตรการเฉพาะหน้า โดยให้มหาวิทยาลัยอาจแก้ปัญหาโดยให้นักศึกษาปรับพื้นฐานความรู้ใหม่ ก่อนที่จะอนุญาตให้นักศึกษาเลือกคณะหรือสาขาวิชาที่สอดคล้องตามศักยภาพของตน ฯลฯ

admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
เมื่อ: 
2009-04-28