ส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเพื่อสังคมด้วยแนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม
นับเป็นระยะยาวนานหลายปีที่สังคมไทยได้เริ่มมีการพูดถึงการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผนึกกำลังกันในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเครือข่ายเพื่อสังคมเกิดขึ้นทั้งเก่าและใหม่รวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 เครือข่ายทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้มีทั้งเครือข่ายที่เข้มแข็งและเครือข่ายที่อ่อนแอ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายเพื่อสังคมต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถทำตามบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เนื่องมาจาก สมาชิกในเครือข่ายไม่ได้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกันได้อย่างเต็มที่ เพราะแต่ละองค์กรต่างก็ต้องประสบกับปัญหาความยากลำบากและความจำกัดในการดำเนินการ
แนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เครือข่ายเพื่อสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถทำบทบาทของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้องค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรเพื่อสังคมนำแนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) นี้ไปใช้เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ขัดกับข้อกฏหมายที่กำหนดให้องค์กรสาธารณประโยชน์จะต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเท่านั้น
เนื่องจากแนวคิดแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) ได้กำหนดให้กิจการที่ทำจะเป็นกิจการที่สร้างรายได้หรือไม่สร้างรายได้ก็ได้ จะมีกำไรหรือไม่มีกำไรก็ได้ แต่จะต้องเป็นกิจการที่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ สามารถสร้างรายได้เพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินกิจการนั้นต่อไป แต่หากมีกำไรก็เป็นกำไรในระดับที่เพียงพอให้มีรายได้หมุนเวียนสนับสนุน กิจการให้ดำเนินต่อไปได้ และหากทำเป็นเชิงธุรกิจ ก็ใช้ธุรกิจของตนเป็นเครื่องมือหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ตนเองสนใจ ด้วยวิธีนี้ทำให้การดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน เพราะไม่ขาดแคลนแหล่งทุนสนับสนุน เหมือนบางองค์กรที่แม้มีความตั้งใจดีแต่ขาดกำลังทรัพย์สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภารกิจขององค์กรไม่บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งหากสมาชิกเครือข่ายแต่ละเครือข่ายมีความเข้มแข็งก็จะส่งผลให้เครือข่ายเพื่อสังคมที่ดำเนินการอยู่มีความเข้มแข็งตามไปด้วย
แม้ว่าการทำงานแบบเครือข่ายดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งทางออกของการทำงานเพื่อสังคมในประเทศไทยในอนาคต แต่หากเครือข่ายเพื่อสังคมเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอและสมาชิกในเครือข่ายไม่ได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง ก็ยากที่จะทำให้ปัญหาสังคมที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน
** นำมาจากหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2552